ความกรุณาอยากเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ตกอยู่ในอันตราย หรือกำลังทุกข์ยากเดือดร้อน เป็นคุณธรรมพื้นฐานที่มีในมนุษย์ทุกคน ยิ่งผู้ที่ทุ่มเทแรงกายกำลังใจเสี่ยงภัยเข้าไปช่วยด้วยแล้ว ก็จะยิ่งได้รับการชื่นชมจากผู้คนในสังคมมากขึ้น

แต่ท่ามกลางเสียงแซ่ซ้องสรรเสริญผู้ที่เปี่ยมด้วยกรุณานั้น หลายครั้งเราจะได้ยินเสียงสอดแทรกขึ้นมาว่า คนแบบนี้ไม่น่าต้องเสี่ยงเข้าไปช่วย ควรสมน้ำหน้า หรือว่าลงมือซ้ำเติมเสียด้วย ทั้งนี้อาจเพราะเขาชอบซ่าหาเรื่องใส่ตัว มั่วสุมคนเลว เหลวไหล ทำให้สังคมเดือดร้อน… เหมือนมีข้อสรุปว่า จะกรุณาเฉพาะเวลาที่ถูกใจเท่านั้น

ไม่นานมานี้มีคลิปวิดีโอสั้นๆ ถูกเผยแพร่ผ่านสื่ออย่างกว้างขวาง เป็นภาพผู้ชายเปลือยกายปีนขึ้นไปทำกิริยามิดีมิร้ายกับรูปเคารพที่เป็นศูนย์รวมจิตใจของผู้คน ในขณะที่ฝูงชนด้านล่างก็พยายามใช้ไม้ตีและดึงตัวเขา เมื่อตกลงมาก็ถูกรุมประชาทัณฑ์ แล้วคลิปก็ตัดไป มีหลายคนเห็นแล้วรู้สึกสะใจ ถ้าอยู่ในเหตุการณ์นั้นได้ก็คงเข้าไปเติมสักหมัดสองหมัด

เหตุการณ์ต่อจากนี้เดาว่าคงมีพลเมืองดีหรือเจ้าหน้าที่เข้าไปห้าม แล้วหามเขาส่งโรงพยาบาลรักษาตัว โดยผู้ที่เข้าไปห้ามอาจโดนลูกหลง หรืออย่างน้อยก็ถูกด่าทอ ว่ามาห้าม มาพา(มัน)ไปโรงพยาบาลทำไม ดีไม่ดีอาจตำหนิไปถึงหมอพยาบาลที่ให้การรักษาชายผู้นี้ด้วย

แม้เรื่องนี้จะกระทบความรู้สึกผู้ที่ศรัทธาต่อรูปเคารพนี้อยู่ไม่น้อย แต่ทุกคนคงเดาได้ไม่ยากว่าชายผู้นี้ไม่เมาก็บ้า หรือว่าคลั่งยาเสพติด มิได้มีเจตนาเหยียบย่ำศักดิ์ศรีหรือมีเป้าหมายทำร้ายจิตใจใครสักนิด แต่เพราะบังอาจทำสิ่งที่ไม่ถูกใจเรา แถมเขาดูมอซอไร้อำนาจ แทนที่จะเลือกให้อภัย ใช้ความกรุณาพาเขาออกจากสถานการณ์ที่ดูไม่งามไปรักษาตัว กลับพากันรุมทำร้าย รวมทั้งแอบสะใจ สมน้ำหน้า หรือว่าขำเมื่อเห็นคลิป

การใช้ความกรุณาช่วยคนให้พ้นอันตรายนั้นมิใช่การลบล้างความผิด หากเขาเลว ชั่ว ทำตัวไม่เหมาะสม สังคมก็ต้องกำราบ ลงโทษไปตามกระบวนการ และหาทางแก้ไขป้องกันมิให้เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นอีก

อย่างไรก็ตามความกรุณานั้นต้องมีขอบเขตและความเหมาะสม คือต้องมีปัญญากำกับด้วยเสมอ

เมื่อพบคนเดือดร้อน เราต้องตั้งสติและใช้ปัญญาแยกแยะหาวิธีที่เหมาะสมในการช่วยเหลือ การไม่สนใจช่วย หรือถึงขั้นลงไม้ลงมือซ้ำเติมในขณะที่เขายังไม่ปกติปลอดภัย นอกจากจะขาดความกรุณาแล้ว ยังหาช่องให้กิเลสคือโทสะและโมหะเข้าครอบงำ สร้างอกุศลกรรมทำตนเองเดือดร้อน อันมิใช่วิสัยของชาวพุทธ

ความกรุณาเป็นหนึ่งในคุณธรรมสำคัญที่สันติภาวันใช้เป็นหลักในการดูแลพระอาพาธ แม้จะมิได้มีความซับซ้อนเท่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสังคม แต่กระนั้นหลังจากที่เราพูดถึงพระบางรูปที่ดูแลอยู่ ว่าท่านดูไม่ค่อยสนวินัย ไม่ใส่ใจปฏิบัตินัก (ซึ่งไม่ถูกใจเรา) ก็มีโยมเปรยให้ได้ยินว่าพระแบบนี้หลวงพี่ไม่น่าช่วยเลย

บางคนมองเลยไปถึงขั้นว่า สิ่งที่เราทำเป็นการพยายามฝืนกฎแห่งกรรม พระทำตัวไม่ดีก็ควรต้องใช้กรรมรับทุกข์ในช่วงท้ายชีวิต มิใช่เข้าไปดูแล

การที่เราช่วยดูแลพระอาพาธระยะท้ายหรือที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้นั้น นอกจากเป็นพลังของความกรุณาที่มีมาในมนุษย์ทุกคนแล้ว ยังเป็นการทำตามสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงฝากฝังไว้กับหมู่สงฆ์ด้วย ยิ่งเมื่อมองว่านี่คือสนามแห่งการฝึกตน อุปสรรคในการดูแล หรือนิสัยแย่ๆ ของพระบางรูปที่ไม่ถูกใจเรา จะกลายเป็นปุ๋ยชั้นดีที่ช่วยบ่มเพาะให้ความกรุณาเบ่งบานกว้างขวางยิ่งขึ้น อันจะช่วยหนุนให้การปฏิบัติธรรมในส่วนอื่นก้าวหน้าไปด้วย

กฎแห่งกรรมนั้นไม่มีใครฝืนหรือเปลี่ยนแปลงได้ แต่พุทธศาสนาก็มิได้แนะนำให้เราปล่อยชีวิตล่องลอยไปตามกระแสกรรมในอดีตที่ทำมา แต่ให้ดำเนินชีวิตด้วยสติปัญญามุ่งสร้างกรรมใหม่ที่ดีขึ้นมาด้วยความพากเพียร

เราเชื่อว่าพระอาพาธที่เคยผิดพลาดขาดความสำรวมจนไร้ที่พึ่งพิง เมื่อได้รับพลังแห่งกรุณา มาอยู่ในบรรยากาศที่รื่นรมย์ ภายใต้ร่มวิถีแห่งสมณะ ย่อมช่วยฟื้นกุศลธรรมในใจท่านให้กลับงอกงามขึ้นได้ แต่ทั้งนี้จะเป็นไปได้ดีแค่ไหน เป็นเรื่องภายในอันเป็นผลจากกรรมที่ท่านทำไว้ในอดีต ที่เราไม่อาจลบล้างได้ ดุจโทษตามกฎหมายซึ่งผู้กระทำผิดที่เราเข้าช่วยยังคงต้องได้รับ

แม้ท่านจบไม่สวยแต่เมื่อช่วยเต็มที่แล้ว เราก็วางใจให้เป็นกลางได้ไม่ยาก

ในทางตรงข้าม เหตุผลต่างๆ ที่เรายกขึ้นมาอ้างเพื่อที่จะไม่เข้าไปช่วยเหลือ (ทั้งที่สามารถพอช่วยได้) นั้น เมื่อพิจารณาดูดีๆ เราจะพบว่ามีกิเลสอยู่เป็นเบื้องหลังแทบทั้งสิ้น

ถ้าเราไม่เท่าทัน ใจก็จะถูกปิดกั้นจากความดี ทั้งมีโอกาสสร้างอกุศลกรรมและยังหาความชอบธรรมให้การกระทำนั้นด้วย ดังเช่นกรณีการรุมทำร้ายชายคลุ้มคลั่ง ว่ากำลังรักษาเกียรติยศให้รูปเคารพของตน