ที่สันติภาวันเราตั้งใจจะให้ความสำคัญต่อการดูแลจิตใจพระอาพาธให้มาก แต่ที่ผ่านมาเราไม่ค่อยมีโอกาสได้ทำงานนี้นัก ส่วนหนึ่งเพราะพระที่เราดูแลท่านมีปัญหาด้านสมองหรือระบบจิต/ประสาท ซึ่งส่งผลต่อสติสัมปชัญญะ จนเป็นอุปสรรคต่อการรับรู้สื่อสาร และการพัฒนาจิตใจของท่าน

หลวงพ่อสมคิด (นามสมมติ) พระอาพาธรูปล่าสุดที่เรารับมาดูแลก็เช่นกัน เท่าที่ทราบท่านเคยมีภาวะสมองขาดเลือดจนต้องผ่าตัด ส่งผลให้ร่างกายซีกขวาอ่อนแรง พูดไม่ชัด กลืนลำบาก ร่วมกับมีอาการทางจิตอยู่ด้วย ท่านมาในสภาพติดเตียง ขยับตัวได้เล็กน้อย มีสายให้อาหารติดมาด้วย และใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการนอน

ท่านมักไม่โต้ตอบอะไรเมื่อคุยกับท่าน เว้นแต่จะเป็นเรื่องที่ตรงกับความต้องการ เช่น ถามว่าหิวมั้ย? อิ่มหรือยัง ท่านก็จะตอบสั้นๆ เวลาท่านรู้สึกหิว หนาว หรือต้องการอะไรบางอย่าง ก็จะพูดคำนั้นซ้ำๆ ซึ่งหลายครั้งเราก็ฟังไม่ค่อยออกว่าท่านหมายถึงอะไร

แม้ท่านจะช่วยเหลือตัวเองได้น้อย สติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ ท่านดึงสายอาหารออกตั้งแต่วันแรกที่มา บางวันก็แกะผ้าอ้อม ดึงสายปัสสาวะ (แบบสวม) ออก ทำให้อุจจาระปัสสาวะเปรอะเปื้อนเตียง แต่การดูแลโดยรวมยังถือว่าไม่ยากนัก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับผู้ที่ร่างกายยังพอใช้ได้ แต่สับสน หรือมีพฤติกรรมก้าวร้าว

เช่นเมื่อครั้งที่เราดูแลหลวงตาชาติ ด้วยความที่ท่านมีภาวะหลง แต่ยังพอลุกเดินเองได้ คืนไหนท่านนอนไม่หลับก็จะเดินไปกวนพระอาพาธเตียงอื่น ไปปัสสาวะไว้ตามมุมห้อง มีครั้งหนึ่งท่านเดินจากที่พักไปจนเกือบพ้นแนวรั้ว เมื่อถามว่าจะไปไหน ท่านบอกว่าจะกลับวัด…

หรือในกรณีของหลวงพ่อคงศักดิ์ที่เรากำลังดูแลอยู่ แม้ท่านจะติดเตียงแขนขาด้านขวาอ่อนแรง แต่ด้วยความที่ท่านเห็นภาพหลอน มีอาการสับสน และมีพื้นฐานชีวิตที่โลดโผนมาก่อน การดูแลจะค่อนข้างยาก เมื่อไม่พอใจเช่นขณะสรงน้ำ สวนอุจจาระ หรือเปลี่ยนผ้าอ้อม ท่านจะทำร้ายพระผู้ดูแลด้วยการชก กัด ทุบ หรือจิกด้วยเล็บ ตามแต่จะพอทำได้ พร้อมทั้งด่าด้วยคำหยาบเสียงดัง แม้ไม่มีใครถือโทษโกรธท่าน แต่ก็ทำให้บรรยากาศการดูแลขาดความสงบไปพอควร

พระอาพาธกลุ่มนี้ เราช่วยท่านได้อย่างมากเพียงคอยเตือนให้ท่านรู้ตัวว่าท่านยังเป็นพระ ชวนพูดคุยเกี่ยวกับวิถีชีวิตพระเท่าที่ทำได้ เปิดเสียงธรรมะสวดมนต์ให้ฟังบ้าง แต่ท่านจะรับรู้เพียงใด ยากที่จะคาดเดา ส่วนการจะให้ท่านปล่อยวางเรื่องค้างใจ ทำจิตให้สงบเย็นเป็นสมาธิ หรือเกิดปัญญานั้น เกินวิสัยที่เราจะช่วยท่านได้

นี่เป็นอีกบทเรียนสำคัญจากการได้ดูแลพระอาพาธ ทำให้เราประจักษ์ถึงความบอบบาง ไม่เที่ยง และบังคับให้เป็นไปตามใจเราไม่ได้ของชีวิต แม้พระบวชเรียนมานับสิบพรรษา ถึงเวลาที่ร่างกายรวนแล้วป่วนมาถึงจิต สิ่งที่ได้ปฏิบัติมาทั้งชีวิตก็ดูเหมือนสูญเปล่า

แน่นอนว่าตามหลักพุทธกรรมใดที่ทำแล้วจะไม่สูญเปล่าไม่ว่ากรรมดีหรือชั่ว สภาพที่เราเห็นแล้วน่าสงสารสลดใจ แต่จิตของท่านจะรับรู้อย่างไรเราไม่ทราบ เราต่างหากถ้ารู้ไม่เท่าทันจิตที่กำลังปรุงแต่งของตน อาจเป็นฝ่ายทุกข์แทนท่านก็เป็นได้ การดูแลใจให้สงบเย็นเห็นตามเป็นจริงอยู่ทุกขณะนั้น จึงเป็นหน้าที่ของเราทุกคนที่ใครก็ช่วยทำแทนไม่ได้ แต่เมื่อกายชำรุด จิตหลุดจากโลกปัจจุบัน ขณะนั้นธรรมชาติก็จะไหลไปตามกลไก ไม่มีจิตของเราหรือของใครให้ต้องกังวล…