หากเราได้ยินว่า “มีพระกลับไปใช้ชีวิตที่บ้าน อยู่ร่วมกับครอบครัวนานนับปี” ในฐานะชาวพุทธ เราจะรู้สึกอย่างไร และจะทำอะไร
เชื่อว่าหลายท่านคงรู้สึกว่าเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง ไม่เหมาะสม พระควรถูกตำหนิ ลงโทษ อาจวางแผนถ่ายภาพ อัดคลิป เตรียมร้องเรียนสื่อ หรือสำนักพุทธฯ ให้เข้าไปตรวจสอบ จัดการกับพระที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมเหล่านี้
แต่ถ้าภายหลังรู้เพิ่มมาว่าพระรูปที่ว่านั้นอาพาธติดเตียง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ บ้านที่ว่าก็ยากจน แม่และน้องสาวช่วยดูแลกันไปตามยถากรรมล่ะ เราจะรู้สึกอย่างไร และลงมือทำอะไร…
เป็นเรื่องที่น่าแปลกใจที่เราชาวพุทธ รวมทั้งเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล หรือแม้แต่เจ้าอาวาส พระผู้ใหญ่ รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ชอบธรรม เหมาะสมแล้ว ที่ครอบครัวหรือญาติจะต้องรับผิดชอบ นำพระที่อาพาธหนักช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ กลับไปดูแลต่อที่บ้าน ทั้งๆ ที่พระอยู่บ้านนั้นเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวง
มีหลายครั้งที่ผู้ติดต่อเพื่อขอส่งพระให้มาพำนักที่สันติภาวัน ซึ่งมีทั้งพระ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล และโยม กล่าวตำหนิญาติของพระให้เราฟัง ทำนองว่าใจร้าย ไม่สนใจ ไม่รับผิดชอบต่อพระที่ป่วย
ในขณะที่เราแทบไม่เคยได้ยินคำตำหนิวัดหรือพระ ว่าละทิ้งไม่ดูแลกัน ส่วนใหญ่ยอมรับได้เมื่อพระบอกว่า “ที่วัดไม่มีใครดูแล” (ทั้งๆ ที่บ้านของพระอาพาธ อาจไม่มีทั้งคน ทั้งเงิน หรือแม้แต่ที่ว่างจะให้ท่านนอน)
ที่เป็นเช่นนี้ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะระเบียบ กฎหมาย รวมถึงวิถีชีวิตของคนยุคนี้ ที่ให้ความสำคัญกับครอบครัวเครือญาติมาก ญาติมักถูกตามเป็นคนแรกให้มาลงนามให้ความยินยอมก่อนทำการรักษาที่มีความเสี่ยง จนรู้สึกว่าญาติมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบดูแลผู้ป่วย… แต่ความรู้สึกเช่นนี้ไม่ควรนำมาใช้ในกรณีของพระ
เพราะวิถีชีวิตของพระคือ “ผู้ออกจากเรือน” ท่านตั้งใจหันหลังให้ครอบครัว สละเครือญาติ โกนผม เปลี่ยนชุด เปลี่ยนชื่อ ก้าวเข้าสู่เพศใหม่ (สมณเพศ) ถือพรหมจรรย์ อยู่ในชุมชนที่มีครูบาอาจารย์และเพื่อนภิกษุเป็นเครือญาติ มีระบบการศึกษาอบรมดูแลที่พระพุทธองค์ทรงวางแนวทางไว้อย่างชัดเจน แม้ในช่วงเจ็บป่วยหรือสิ้นชีวิต
วัดคือบ้านของพระ ที่ต้องพร้อมรองรับพระ-เณรได้ในทุกช่วงเวลาของชีวิต อาจมีบางโอกาสที่พระต้องเข้าไปสัมพันธ์กับผู้คน หน่วยงาน หรือรับบริการเฉพาะทางนอกวัด แต่เมื่อเสร็จกิจก็ควรกลับไปอยู่ที่วัดเป็นปกติ
ในเมื่อเรารู้สึกว่าพระอยู่บ้านเป็นเรื่องผิดปกติ ไม่เหมาะสม สิ่งที่เราชาวพุทธควรทำ คือสร้างความชอบธรรมให้พระอาพาธได้รับการดูแลต่อที่วัด หาวิธีช่วยเหลือพระอาพาธที่ถูกผลักไปอยู่บ้าน ให้ได้กลับไปอยู่ที่วัด รวมทั้งป้องกันมิให้พระอาพาธที่อยู่ตามวัดถูกส่งตัวกลับไปอยู่ที่บ้าน (หรือถูกบังคับให้สึกโดยที่ท่านไม่เต็มใจ)
เป็นหน้าที่ตามธรรมวินัยอันปฏิเสธมิได้ของวัดและหมู่สงฆ์ที่ต้องดูแลกันในทุกช่วงของชีวิต หากวัดที่ท่านเคยอยู่ปฏิเสธ ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด สามารถปรึกษาขอความช่วยเหลือไปยังเจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ในพื้นที่นั้น ให้ท่านช่วยหาทางออกให้ หรือปรึกษาไปยังสำนักงานพระพุทธศาสนาในพื้นที่ (เช่นเดียวกับกรณีที่เราร้องเรียนพระที่อยู่บ้านหรือทำตัวไม่เหมาะสม)
ขณะพระอาพาธอยู่ในโรงพยาบาล หากจำเป็นต้องมีผู้ลงชื่อรับรองในกรณีต่างๆ พระอุปัฏฐากในวัดควรเป็นผู้ที่ต้องถูกตามก่อน และเมื่อสิ้นสุดการรักษาแล้ว ควรต้องติดต่อวัดเดิมของท่านให้รับกลับไปดูแลต่อ
การช่วยกันเช่นนี้ ถือเป็นการช่วยดูแลพระ รักษาศาสนาให้มั่นคงได้ทางหนึ่ง ทำให้พระอุปัชฌาย์ เจ้าอาวาส ใส่ใจและรับผิดชอบต่อการรับกุลบุตรที่จะบวชเข้ามาใหม่ ทำให้พระในวัดต้องเอาใจใส่ดูแลกันมากขึ้น ให้ตระหนักในหน้าที่ช่วยดูแลกันยามอาพาธ เพราะในวันหนึ่งท่านก็จะต้องอยู่ในฐานะผู้ที่ได้รับดูแลเช่นกัน
การช่วยพระศาสนาในแง่นี้ อานิสงส์มิได้ด้อยไปกว่าการสร้างวิหารอาคารใหญ่โต ที่แม้จะยืนยงมั่นคงไปหลายร้อยปี แต่หากศาสนสถานเหล่านั้นไม่มีภิกษุสงฆ์ที่สืบทอด รักษา นำพระธรรมมาปฏิบัติแล้ว ศาสนาก็คงไร้คุณค่า ธรรมะไม่มีโอกาสถูกแจกแจงอธิบายนำมาคลายทุกข์ในชีวิตอีกต่อไป ความมั่นคงของอาคาร จะกลายเป็นเพียงโบราณสถานให้ลูกหลานไว้ถ่ายรูปเท่านั้น