หนึ่งในข่าวพระที่สื่อโซเชียลเคยยกมาโพสต์ แล้วเรียกแขกจัดทัวร์มาถล่มพระได้อย่างสนุกปากหัวข้อหนึ่งคือ ข่าวพระกลับมาอยู่บ้าน (นานๆ)
แน่นอนว่าพระซึ่งตั้งใจออกจากเรือนมาบวช ยอมเปลี่ยนชื่อมาใช้ฉายาเพื่อแสดงว่าเป็นคนใหม่ ตั้งใจที่จะอยู่วัดปฏิบัติกิจกับหมู่สงฆ์ แล้วดันหันกลับมาใช้ชีวิตอยู่บ้านซึ่งมีทั้งญาติและโยม (ผู้หญิง) อยู่ด้วย ย่อมสมควรถูกตำหนิ
แต่สังคมหารู้ไม่ว่านั่นเป็นเพียงส่วนน้อย เพราะในความเป็นจริงมีพระอาพาธติดเตียงจำนวนมากที่อาศัยอยู่บ้าน เพียงแต่ท่านอาจไม่มีโอกาสออกมานอกบ้านให้คนเห็น หรือเห็นแต่อาจดูไม่ออกว่าเป็นพระเพราะไม่ได้นุ่งห่มจีวรเหมือนปกติ
ที่น่าแปลกยิ่งกว่านั้นคือคือทุกฝ่ายที่รู้เรื่องนี้ ไม่ว่าเพื่อนบ้าน ชาวพุทธที่ใส่ใจพระศาสนา หรือพระผู้ใหญ่ในคณะสงฆ์ ไม่มีใครออกมาตำหนิการกระทำนี้เลย บางคนถึงกับอนุโมทนา เห็นใจสีกาที่เอาใจใส่ดูแลหลวงพ่อหรือพระอดีตสามีอย่างดี ราวกับว่าเรื่องนี้ถูกต้องชอบธรรม สอดรับพระธรรมวินัยที่เราเคารพ…
สองสัปดาห์ก่อนเราพาพระอาพาธที่ดูแลอยู่ไปพบแพทย์ตามนัด ได้พบพระรูปหนึ่งนอนบนเตียงเปลที่จุดแรกรับ สอบถามทราบว่าท่านท้องมานจะมาเจาะน้ำออกจากช่องท้อง ท่านว่ามีพระชราอีกรูปเดินไม่ได้อยู่ที่วัดด้วย เราจึงรับปากท่านว่าจะหาโอกาสแวะไปเยี่ยม
ไม่กี่วันหลังจากนั้น เราได้ชวนกันไปเยี่ยมหลวงพี่อำพล (นามสมมติ) ที่วัด วัดของท่านจัดว่าเป็นวัดใหญ่ในระดับหมู่บ้าน มีพระประจำถึง ๙ รูป แต่ส่วนใหญ่เป็นพระมีอายุ บางรูปเห็นได้ชัดว่าอาพาธแต่ยังพอดูแลตัวเองได้
ท่านพักอยู่หลังศาลาทำบุญ แม้ห้องจะโปร่งดี เข้าออกสะดวกไม่ต้องขึ้นลงบันได อยู่ใกล้ห้องน้ำ แต่ท่านต้องจำวัดในเต็นท์เพื่อป้องกันยุงและบังสายตาคนภายนอกที่มองเข้ามาได้ ท่านพักอยู่กับพระอาพาธอีกรูปหนึ่งอายุ ๘๔ ปี ซึ่งขาขวาท่านชาจนเดินไม่ได้
วันนั้นท่านเล่าถึงอาการว่า ท้องเพิ่งโตได้ไม่ถึงปี แม้ไม่เจ็บปวด แต่ก็อึดอัด ท้องอืดบ่อย และเหนื่อยง่ายจนสวดมนต์ไม่ทันเพื่อน จะต้องเจาะน้ำออกทุกๆ ๓ วัน และรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลศูนย์ หมอตรวจแล้วไม่พบมะเร็ง บอกว่าน่าจะเป็นเพราะตับอักเสบ ทุกวันนี้พี่สาวซึ่งรับจ้างกรีดยางเป็นผู้ทำอาหารมาส่ง และเหมารถให้เมื่อต้องไปโรงพยาบาลศูนย์ ส่วนเจ้าอาวาสก็ให้ปัจจัยบ้างพอได้นำมาใช้จ่าย…
วานนี้เราได้ไปเยี่ยมท่านอีกครั้ง แต่เจ้าอาวาสบอกว่าญาติรับหลวงพี่อำพลไปดูแลที่บ้านแล้ว หลวงตาที่อยู่ห้องเดียวกับท่านเล่าว่า หลังจากเรามาเยี่ยมครั้งก่อนท่านช็อก ต้องนอนโรงพยาบาลอยู่ ๑ สัปดาห์เต็ม โดยหมอได้บอกญาติๆ ว่า หลวงพี่อำพลเข้าสู่ระยะสุดท้ายของโรคแล้ว มีโอกาสที่มรณภาพได้เสมอ
เราจึงแวะไปเยี่ยมท่านที่บ้านซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดนัก พี่สาวจัดห้องด้านล่างให้ท่านอยู่อย่างเป็นสัดส่วน ดูเหมือนว่าทั้งตัวท่านเองและญาติยังทำใจยอมรับสถานการณ์ไม่ได้ พี่สาวท่านบอกว่าช่วงนี้ใครแนะนำยาหรือสมุนไพรดีๆ ก็จะพยายามหามาให้พระได้ฉัน
ครั้งนี้เรายังไม่ได้จังหวะพูดคุยอะไรกับหลวงพี่และญาติมากนัก ตั้งใจไว้ว่าจะแวะมาเยี่ยมท่านอีกเรื่อยๆ แต่ก็ได้บอกกับญาติ (ซึ่งพอรู้ข้อมูลจากหลวงพี่บ้างแล้ว) ว่า ถ้าหลวงพี่อยากอยู่ในบรรยากาศของวัด แต่ที่วัดท่านไม่พร้อม จะไปพักอยู่กับเราที่สันติภาวันก็ยินดี
แต่ทั้งหลวงพี่และญาติต่างบอกว่าเกรงใจ เพราะรู้สึกว่าภาระในการดูแลนี้ควรเป็นเรื่องของคนในครอบครัว…
เรามาถึงจุดที่ ใครๆ ก็คิดว่า ความรับผิดชอบในการดูแลพระอาพาธเป็นของคนในครอบครัวได้อย่างไร?