หลายคนอยากใช้เวลาช่วงท้ายของชีวิตอยู่ท่ามกลางญาติพี่น้องที่ตนรัก ความปรารถนาแม้เล็กน้อยเพียงแค่นี้แต่บางทีอาจได้มาไม่ง่ายนัก เพราะความตายมิใช่การปิดสวิตช์ จะเกิดขึ้นแบบไหนวินาทีใดไม่มีใครรู้ อีกทั้งเมื่ออยู่ในมือหมอก็ยากที่จะก้าวก่าย หากเตรียมการไว้ไม่ดี บางทีญาติพี่น้องนั่นเองที่ทำลายความปรารถนานั้นลงด้วยความหวังดี
หลวงพ่อรุ่งเรือง (นามสมมติ) ที่เพิ่งกลับมาอยู่กับเราอีกครั้งหลังจากไปรักษาการติดเขื้อในกระแสเลือดที่โรงพยาบาล ก็เป็นท่านหนึ่งที่ปรารถนาจะมรณภาพท่ามกลางลูกหลานญาติมิตร
เราตระหนักถึงเรื่องนี้ตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่รับท่านเข้ามา เพราะท่านมักเรียกร้องให้ลูกหลานแวะมาหาท่านบ่อยๆ เมื่อญาติมาเยี่ยมท่านจะดูสดใสกว่าปกติ แม้ระยะหลังที่ท่านอ่อนแรงลง ฉันอาหารได้น้อย รู้ว่าร่างกายคงจะทนอยู่ได้อีกไม่นาน ท่านก็เร่งเร้าว่าอยากพบหน้าลูก จนเราต้องหาวิธีให้ได้พูดคุยกันทางโทรศัพท์ ซึ่งท่านก็ยังย้ำไปทางปลายสายว่ากำลังรอพบหน้าลูก
ในที่สุดท่านได้บอกเราว่า อยากไปอยู่วัดของพระพี่ชายและจะตายที่นั่น หลังจากคุยกับญาติก็ได้ทราบว่าพระพี่ชายท่าน แม้เป็นเจ้าอาวาสแต่สุขภาพก็ไม่ค่อยดีเช่นกัน ต้องฉันยาจิตเวชประจำ คงไม่สามารถรับท่านไปดูแลได้ จังหวะนั้นเองน้องชายท่านอีกคนได้แวะมาเยี่ยม ท่านจึงขอกลับไปด้วย แน่นอนว่าเราไม่ขัดข้อง เพราะรู้ชัดว่าการได้อยู่ท่ามกลางญาติพี่น้องคือความปรารถนาสุดท้ายในชีวิตท่าน
แม้ท่านย้ายไปอยู่กับน้องชายแล้ว เราก็ยังติดตามข่าวคราวจากญาติที่มาส่งอยู่เป็นระยะ ทราบว่าหลังจากท่านกลับไปได้เพียง ๒ วัน อาการก็แย่ลงจนต้องนำท่านส่งโรงพยาบาลอีกครั้ง เมื่อได้นอนพักรับยา ให้น้ำเกลือ และเลือด อยู่ ๒-๓ วันพอฟื้นตัวขึ้นบ้าง หมอก็ให้กลับเพื่อพักฟื้นต่อที่บ้าน ขณะที่ญาติอีกส่วนหนึ่งก็พยายามวิ่งเต้นทำเรื่องให้ท่านได้รับการฟอกไตเร็วขึ้น
เช้าวันนัดที่จะไปพบแพทย์เพื่อประเมินการเตรียมเส้นเลือดฟอกไตนั่นเอง (๑๗ กุมภาพันธ์) ท่านหมดสติและหัวใจได้หยุดเต้นระหว่างนำส่งโรงพยาบาล ถึงแม้ทีมแพทย์จะปั๊มหัวใจให้กลับมาเต้นอีกครั้ง แต่ร่างกายท่านก็ไม่ตอบสนองใดๆ ญาติจึงให้ส่งตัวท่านไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลจังหวัด ซึ่งได้ใส่ท่อเสียบสายให้การช่วยเหลือท่านอย่างเต็มที่ (คำบอกเล่าของญาติ)
แต่ในที่สุดเย็นวันถัดมาท่านก็มรณภาพลงอย่างเดียวดาย (เพราะโรงพยาบาลห้ามญาติเยี่ยมในช่วงโรคระบาด) ความปรารถนาที่จะตายอย่างอบอุ่นท่ามกลางพี่น้องลูกหลานของท่านเป็นอันไม่สัมฤทธิ์ผล ซ้ำร่างกายยังต้องถูกกระทำให้เจ็บปวดบอบช้ำก่อนสิ้นลมด้วยความหวังดี
ชีวิตในระยะท้ายของหลวงพ่อรุ่งเรืองช่วยย้ำกับเราว่า ถ้าปรารถนาที่จะตายดี ตายในบรรยากาศที่ตนต้องการ จะต้องสั่งเสียเตรียมความพร้อมไว้ให้ชัดเจน หลวงพ่อรุ่งเรืองแม้ท่านจะเตรียมไว้บ้าง แต่ก็ยังไม่เพียงพอ ตั้งแต่รู้ว่าร่างกายเริ่มไม่ไหวท่านก็ย้ายจากสุพรรณบุรีมาอยู่วัดใกล้บ้านน้องที่จันทบุรี หวังยึดเป็นที่ตาย แต่ไม่กี่วันต่อมาก็ต้องย้ายเข้านอนโรงพยาบาล จนได้มาอยู่กับเราที่สันติภาวัน
แม้ในช่วงท้ายท่านได้กลับไปอยู่ใกล้พี่น้องตามความต้องการแล้ว แต่เพราะมิได้ตระเตรียมกับญาติไว้ให้ชัดเจน คนที่เสียงดัง มีพลัง หรือมีเงิน ก็มักหอบหิ้วผู้ป่วยวิ่งหนีความตาย โดยคิดว่าตนกำลังทำสิ่งที่ดีที่สุด ด้วยความปรารถนาดีเต็มร้อย ผู้ที่ทักท้วงไม่เห็นด้วยอาจถูกมองว่าคิดร้ายต่อผู้ป่วยไปก็ได้ (เราเองก็ได้ยินญาติท่านคนหนึ่งเปรยว่าใครจะมาดูแลดีเท่ากับญาติพี่น้อง)
การเตรียมการเพื่อให้วาระสุดท้ายเป็นไปดังหวังจึงเป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งความต้องการนั้นมีเงื่อนไขซับซ้อน หรือต้องเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมากยิ่งต้องมีความละเอียดอ่อนในการตระเตรียม
การที่พระมหาเถระบวชมา ๓๖ พรรษาอย่างหลวงพ่อรุ่งเรือง ตั้งใจกลับไปตายในหมู่ญาติพี่น้องก็ถือเป็นเรื่องที่ไม่ปกตินัก เพราะพระย่อมรู้ตั้งแต่ก่อนบวชแล้วว่า จะต้องสละเรือนไปอยู่วัดกับหมู่สงฆ์ มีอุปัชฌาย์อาจารย์เป็นดุจพ่อแม่ มีพระเณรเป็นพี่น้องลูกหลานในครอบครัวใหม่ มีการพึ่งพาดูแลกันยามเจ็บป่วยด้วยใจกรุณาเป็นเรื่องธรรมดา เป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่าและงดงามตามวิถีผู้ถือพรหมจรรย์
แต่อาจเป็นเพราะสมัยนี้ภาพแห่งสังฆะเปลี่ยนไป จนหาความมั่นคงวางใจเมื่อถึงวัยชราหรืออาพาธไม่ได้ ทำให้พระผู้ใหญ่จำต้องหวนไปพึ่งญาติ ไปใช้ชีวิตเยี่ยงฆราวาสกับพี่น้องร่วมอุทรอีกครั้งก่อนตาย…
พูดถึงเรื่องนี้ครั้งใด ใจหายทุกคราว