ความรู้สึกหนึ่งที่อาจปรากฏขึ้นในใจญาติโยม เมื่อมีผู้ชักชวนให้ช่วยกันอุปถัมภ์พระอาพาธที่วัดใกล้บ้าน คือ “ไม่อยากช่วย” เพราะอาจเคยรู้พฤติกรรม เห็นท่าทาง หรือได้ยินเพื่อนบ้านพูดถึงท่านในทางลบจนหมดศรัทธา
ความรู้สึกไม่อยากช่วยของโยมไม่ใช่เรื่องแปลกหรือบาปแต่อย่างใด การมีท่าทีไม่เกื้อหนุนต่อพระที่ทำตัวไม่น่าศรัทธา ก็เป็นกลไกที่ดีอย่างหนึ่งในการกำกับพฤติกรรมของพระให้อยู่ในร่องรอยได้
แต่สำหรับพระด้วยกัน จะไม่ช่วยเหลือกันยามเจ็บป่วยไม่ได้ ถึงจะไม่ชอบหน้า หรือว่าอาจาระไม่งาม นิสัยแย่ ไม่เผื่อแผ่หมู่คณะ ฯลฯ พระพุทธองค์ทรงปรับอาบัติไว้ หากทั้งวัดไม่มีพระรูปใดเข้าไปดูแลพระอาพาธเลย
เหตุที่ทรงบัญญัติพระวินัยข้อนี้ เนื่องจากพระองค์บังเอิญไปพบพระอาพาธรูปหนึ่งไม่มีใครดูแล เพราะท่านเป็นคนไม่แยแสใส่ใจช่วยเหลือหมู่คณะเลย พระพุทธองค์และพระอานนท์จึงได้เข้าไปช่วยสรงน้ำดูแล จากนั้นได้เรียกประชุมสงฆ์ แล้วทรงบัญญัติพระวินัยกำชับให้พระต้องดูแลกันยามอาพาธ โดยไม่ให้มีเงื่อนไขเรื่องพฤติกรรม อายุพรรษา หรือว่าสายปฏิบัติใดๆ ทั้งสิ้น ถ้าทำเองไม่ได้ก็ต้องขวนขวายหาผู้ที่มีความสามารถมาช่วยเหลือ
ที่สันติภาวันแม้จะดูแลเฉพาะพระอาพาธระยะท้าย แต่ก็เปิดกว้างรับทุกนิกาย ไม่เลือกวัด สายปฏิบัติ อายุพรรษา หรือว่ารับเฉพาะผู้ตั้งใจศึกษาปฏิบัติธรรม มีพฤติกรรมงดงามเท่านั้นก็หาไม่ ขอเพียงเราดูแลได้ และท่านเต็มใจมาเท่านั้นพอ
ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้ที่ติดตามเรื่องราวของเราตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมพระอาพาธที่สันติภาวันเมื่อถึงระยะท้าย หลายท่านมีลักษณะอาการที่ไม่แตกต่างจากคนทั่วไปเลย คือยังกังวลใจ อาลัยข้าวของ เรียกร้องโน่นนี่ อยากที่จะกลับบ้าน บ้างก็ฟุ้งซ่านขาดสติ เพราะโยมคาดหวังว่าเมื่อพระอาพาธระยะท้ายท่านควรผ่อนคลาย สงบเย็น ใจปล่อยวาง พร้อมทิ้งร่างละโลก โดยไม่เศร้าโศกอาลัย ให้สมกับที่ได้บวชเรียนมานาน
เรื่องนี้ถ้าตอบอย่างตรงไปตรงมาก็เพราะว่าท่านไม่ได้สนใจศึกษาปฏิบัตินัก ปกติเราจะสอบถามแนวทางปฏิบัติของแต่ละรูป ตั้งแต่วันแรกๆ ที่รับเข้ามา โดยหวังว่าจะได้ดูแล/สนับสนุนให้ท่านได้ปฏิบัติอย่างเหมาะสม แต่คำตอบส่วนใหญ่คือท่านไม่ชัดเจนในแนวทางปฏิบัติ บอกไม่ได้ว่าชอบฟังธรรมของใคร หรือปฏิบัติแนวไหน
โยมบางท่านบ่นเสียดายแทนพวกเราที่ตั้งใจทำงานที่ทำได้ยาก แต่กลับไม่มีโอกาสได้ดูแลพระปฏิบัติดีมีธรรม จะได้เกิดบุญใหญ่กับผู้ดูแล และเผื่อแผ่ไปถึงโยมที่อุปถัมภ์อยู่ด้วย แน่นอนว่าเราเองก็อยากมีโอกาสเช่นนั้น แต่ขณะเดียวกันก็ทราบดีว่า ครูบาอาจารย์และพระที่ปฏิบัติดีท่านมีผู้อุปัฏฐากอุปถัมภ์ไม่ขาด บางแห่งถึงขั้นแย่งชิงกันปรนนิบัติก็มี
ส่วนพระบ้านธรรมดาที่ไม่มีตำแหน่ง หรือปฏิบัติมาน้อย มักถูกปล่อยปละละเลยยามอาพาธ แถมยังดูแลยากกว่าพระที่ปฏิบัติดีด้วย พระเหล่านี้ส่วนหนึ่งได้ถูกส่งมาที่สันติภาวัน
อย่างไรก็ตามความยุ่งยากในการดูแลท่านมิได้บั่นทอนการทำงานของเรานัก เพราะมีหลักไว้แต่แรกแล้วว่าเราจะมาปฏิบัติธรรมผ่านการดูแลพระอาพาธ ทำให้เรื่องที่ดูเป็นปัญหาหรือว่าการทำตัวไม่เหมาะสมของท่าน ถูกมองว่าเป็นบททดสอบที่ช่วยให้เราเข้มแข็ง มีสติไวในการกลับมาดูใจตนเอง และยอมรับในความแตกต่างของคนได้ง่ายขึ้น ทั้งยังเป็นโอกาสได้เห็น เรียนรู้ และจัดการกับความโกรธความหงุดหงิดที่เกิดดับอยู่ในใจอีกด้วย
แม้การที่โยมไม่อุปถัมภ์พระอาพาธที่มีอาจาระไม่งามมิใช่เรื่องผิดและมีผลดีอยู่บ้าง แต่ผู้ที่สามารถให้อภัยในข้อบกพร่อง มองข้ามความผิดพลาดของท่านได้ แล้วยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือตามกำลัง ถือว่าเป็นผู้ที่ได้พัฒนาจิตล้ำไปอีกขั้น มีปัญญา ทำความกรุณาในใจให้เบ่งบานแผ่กว้างยิ่งกว่าเดิม
การสงเคราะห์พระอาพาธในระยะท้ายยังเป็นบุญใหญ่ช่วยสืบทอดอายุพระศาสนา ประคองรักษาหมู่สงฆ์ให้อยู่คู่สังคมได้ เพราะหากชีวิตพระในระยะท้ายไม่มั่นคง ก็ไม่มีผู้ประสงค์จะบวชอุทิศชีวิตเพื่อพระศาสนาอีกต่อไป
การอุปถัมภ์พระอาพาธโดยไม่ตั้งเงื่อนไข ยังถือเป็นการทำตามแนวทางที่พระพุทธองค์ทรงวางไว้ และอิงหลักการที่ทรงให้ความสำคัญต่อการดูแลพระอาพาธมาก ดั่งพุทธพจน์ที่เราคุ้นเคยกันดีว่า
“ผู้ใดจะพึงอุปัฏฐากเรา ผู้นั้นพึงพยาบาลภิกษุอาพาธ”