คำถามที่ส่งเข้ามาทางกล่องข้อความบนเพจสันติภาวันมากที่สุด คือสอบถามช่องทางการทำบุญสนับสนุนการดูแลพระอาพาธ รวมทั้งสิ่งของอุปกรณ์ที่พระอาพาธจำเป็นต้องใช้ บางท่านก็ติงว่าทำไมไม่เขียนเลขที่บัญชีให้เห็นชัดๆ บนหน้าเพจ จะได้ร่วมทำบุญสะดวก
เป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่เราชาวพุทธสนใจอยากมีส่วนร่วมในการดูแลพระอาพาธ แต่เป็นเพราะเราเชื่อว่าการดูแลพระอาพาธเรื้อรัง/อาพาธระยะท้ายนั้น เป็นเรื่องที่ทุกวัดสามารถลงมือทำได้เลยตามกำลัง โดยไม่ต้องรอให้มีผู้เชี่ยวชาญ มีเงิน หรือมีอาคารสถานที่ให้พร้อมก่อนถึงจะทำได้ บนหน้าเพจเราจึงไม่อยากให้เรื่องเงินโดดเด่นเกินกว่ากิจกรรมที่เราทำ
สำหรับญาติโยมที่ต้องการมีส่วนร่วมในการดูแลพระอาพาธก็ทำได้ทันทีโดยไม่ต้องมุ่งมาที่สันติภาวัน เช่น ถ้ารู้ว่ามีพระที่วัดใกล้บ้านอาพาธก็ไปช่วยเหลือท่านตามกำลัง อาจจัดอาหารที่เหมาะกับโรคใส่บาตร จัดหายาถวาย พยุงกายท่านไปหาหมอ หรือถ้าไปโรงพยาบาลพบพระอาพาธที่มาตรวจรักษา ก็เข้าไปสอบถามเรื่องการขบฉัน/การเดินทางของท่าน เป็นต้น ถ้าเราช่วยกันแบบนี้พระอาพาธก็จะได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง
หากเทียบกับขั้นตอนทั้งหมดในการดูแลผู้ป่วยแล้ว กิจกรรมที่สันติภาวันทำอยู่ถือว่าเป็นเพียงเสี้ยวเล็กๆ ของกระบวนการเยียวยาอาพาธเท่านั้น เราใช้ทรัพยากรไม่ว่าเงิน สถานที่ เครื่องมืออุปกรณ์ หรือบุคลากร ในสัดส่วนที่น้อยมาก แต่เราเชื่อมั่นว่าผลงานที่ได้ทำนั้นยิ่งใหญ่ สร้างความสุขใจให้พระอาพาธและคนรอบข้างที่กำลังจมอยู่ในความทุกข์ได้ไม่น้อยกว่าการดูแลผู้ป่วยในจุดอื่น
จึงอยากชักชวนพระคุณเจ้าในวัดที่มีความพร้อม หรือมีความจำเป็น เช่น มีพระชราหรืออาพาธด้วยโรคเรื้อรังอยู่ขณะนี้ ให้มาเตรียมตัวทำงานนี้กัน และเชิญชวนญาติโยมมาช่วยกันสนับสนุนให้พระทำงานนี้ได้คล่องตัวขึ้น เช่น ช่วยเตรียมอาหาร ปรับปรุงอาคารที่พระอาพาธพักให้ง่ายต่อการเข้าไปดูแล อำนวยความสะดวกเรื่องรถราในคราที่ท่านต้องไปโรงพยาบาล เป็นต้น
การทำงานเรื่องนี้ไม่ได้ยากอย่างที่หลายท่านคิด โดยวัดก็ช่วยจัดเวรพระเณรมาดูแลร่างกายพระอาพาธ ประสบการณ์ที่ได้จากการศึกษาปฏิบัติธรรมนั้นก็นำมาช่วยดูแลจิตใจท่าน สำหรับเทคนิคพิเศษในการพยาบาลผู้ป่วยนั้นทุกโรงพยาบาลตั้งแต่ระดับตำบลขึ้นไป มีทีมงานรับผิดชอบด้านนี้คอยช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ พร้อมทั้งมีอุปกรณ์ที่จำเป็นสนับสนุนบางส่วนด้วย
สันติภาวันเอง ก็เริ่มต้นง่ายๆ จากพระ ๒-๓ รูป ที่มีใจและเห็นความยิ่งใหญ่ของเรื่องนี้ เราปรับปรุงกุฏิในวัดเล็กน้อยพอให้ตั้งเตียงได้ ๓ เตียง อุปกรณ์ที่จำเป็นหลวงพ่อเจ้าคุณประธานที่พักสงฆ์ป่ามะขามท่านก็เมตตาบริจาคมาให้ ทำให้เราพร้อมรับพระอาพาธมาดูแล และทำกิจกรรมอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็ว
สถานที่ปัจจุบันเราก็เริ่มต้นด้วยการปรับปรุงอาคารเก่าที่โยมถวายติดมาพร้อมที่ดินเป็นพื้นที่รองรับพระอาพาธ แม้จะมีการวางแผนการพัฒนาในอนาคตไว้ใหญ่โตไม่น้อย ทั้งด้านสถานที่และกิจกรรม ถึงขั้นจะเปิดดูแลภิกษุณีและแม่ชีที่ป่วยระยะท้ายด้วย แต่เราก็ไม่ได้รีบร้อน รอความพร้อม ทั้งประสบการณ์ ความรู้ ดูความจำเป็น มีบุคลากร เงินทอง และอื่นๆ ก่อน จึงค่อยขยับขยายกันต่อไป
จึงอยากกล่าวเชิญชวนญาติโยมอีกครั้ง ให้มาสนใจทำบุญใหญ่ด้วยการดูแลพระอาพาธระยะท้ายที่ใกล้บ้านกัน เพราะเมื่อพระมั่นใจว่าการสละชีวิตเพื่อพระศาสนาตายคาผ้าเหลืองยังเป็นไปได้ หมู่สงฆ์ก็จะยังคงเข้มแข็งสืบทอดพุทธศาสนาให้ยั่งยืนต่อไปได้
สำหรับพระคุณเจ้าย่อมตระหนักดีอยู่แล้วว่า การดูแลพระอาพาธนั้นนอกจากจะเป็นหน้าที่ที่พระพุทธองค์ทรงฝากหมู่สงฆ์ไว้ ยังเป็นรูปแบบการปฏิบัติธรรมที่เรียบง่าย ชัดเจน และใช้ได้จริงอีกด้วย เราจะมีคุณธรรมสูงส่งหรือปฏิบัติธรรมให้ก้าวหน้าได้อย่างไร ถ้าใจยังไร้กรุณาต่อพระอาพาธร่วมสำนัก และจะมีประโยชน์อะไรถ้ารักษาวินัยทุ่มปฏิบัติกันมาทั้งชีวิต แต่เมื่อป่วยติดเตียงต้องให้โยมผู้หญิงมาจัดการร่างกาย วิ่งหนีความตายไม่ต่างจากคฤหัสถ์ ยินดีรับยากดประสาทให้ขาดสติ ทั้งๆ ที่พยายามฝึกอยู่อย่างมีสติตื่นรู้มาโดยตลอด
ความครอบคลุมในการดูแลพระอาพาธระยะท้ายอยู่ที่ชาวพุทธทุกท่าน มิใช่อยู่ที่สันติภาวันที่เดียว