คำว่า “ไปที่ชอบ ที่ชอบ” มักถูกใช้ไปในทางลบ ในทำนอง ไปให้ไกลๆ ไม่อยากพบเจออีก หรือถ้าพูดถึงคนที่ตายแล้ว จะสื่อไปทางกลัว อย่ามาหลอกหลอนกัน
แต่ถ้าว่ากันตามรูปศัพท์แล้ว ใครๆ ก็อยากไปที่ชอบกันทั้งนั้น มิใช่แค่ก่อนตาย แต่รวมถึงหลังตายแล้วด้วย
สันติภาวันเป็น “ที่ชอบ” ของหลายท่าน ทั้งผู้ที่แวะมาเยี่ยม มาทำบุญ หรือแม้แต่คนที่มาส่งพระอาพาธ ล้วนต่างชื่นชมในบรรยากาศที่สงบ ร่มรื่น สดชื่นด้วยแมกไม้ลำธาร และอากาศที่ปลอดโปร่ง
สำหรับพระอาพาธที่เคยเห็นบรรยากาศ หรือรู้จักสันติภาวันมาก่อน ที่นี่ก็เป็นหนึ่งใน “ที่ชอบ” ของท่านเช่นกัน
เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่มาส่งหลวงพี่ปัญญา (นามสมมุติ) บอกเราว่า หลวงพี่อยากจะได้มาอยู่สันติภาวันก่อนตาย เธอดีใจมากที่เราตอบรับท่านมาดูแล และเมื่อท่านรู้ก็ตั้งตารอวันที่ได้ออกเดินทางกว่า ๗๐๐ กิโลเมตร มาที่นี่
แม้มะเร็งที่แพร่กระจายจะรุมเร้าสร้างทุกขเวทนาให้ท่านอย่างหนักหน่วง แต่สีหน้าหลวงพี่ปัญญาที่เราพบ ยังดูสดชื่น มีพลัง
ท่านพยายามดูแลร่ายกายตัวเองเต็มที่ เพื่อให้เป็นภาระกับเราน้อยที่สุด ถึงขนาดหยิบยาสวนจากย่ามมาสวนทวารด้วยตัวเองตอนท้องผูก (แต่ในที่สุดพระผู้ดูแลต้องช่วยล้วงอุจจาระออกให้ เพราะท่านไม่มีแรงที่จะแบ่ง)
ยามที่ทุกขเวทนากำเริบ ท่านยังยินดีรับฟังคำปลอบ คำอธิบายในการวางใจ ทั้งยังเชื่อใจว่าเราจะอยู่ข้างๆ ช่วยดูแลจนท่านสบายตัวขึ้น
น่าเสียดายที่หลวงพี่ปัญญาท่านมาอยู่กับเราได้เพียง ๓ คืนเท่านั้น ช่วงตีสี่ก่อนทำวัตร เรายังเห็นท่านขยับตัว ไม่ได้มีท่าที่เจ็บปวด หรือหอบเหนื่อย เวลาผ่านไปเพียง ๓๐ นาที เมื่อทำวัตรเสร็จมาดูท่านอีกครั้ง ก็พบว่าท่านมรณภาพแล้ว
ท่านสิ้นลมไปท่ามกลางเสียงสวดมนต์ทำวัตรของพวกเรา ที่นั่งห่างออกไปไม่ถึง ๑๐ เมตร เป็นบรรยากาศการสิ้นลมที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในโรงพยาบาล ที่บ้าน หรือแม้แต่ในวัดที่มิได้ใส่ใจดูแลพระอาพาธ
เป็นไปไม่ได้ที่จะให้สันติภาวันรับพระอาพาธระยะท้ายทุกรูปมาดูแล แต่เป็นไปได้ไม่ยากนัก ที่วัดจะให้การดูแลเอื้อเฟื้อต่อพระอาพาธ วัดที่ท่านเคยอยู่ยังได้เปรียบเรา ในแง่ความอบอุ่นคุ้นเคยที่มีต่อกันมายาวนานด้วย
ในเมื่อเราทุกคนต้องเข้าสู่วาระสุดท้ายของชีวิต เรามี “ที่ชอบ” กันหรือยัง
ถ้าไม่ได้เตรียม “ที่ชอบ” เอาไว้ จะมั่นใจได้อย่างไร ว่าเราจะไม่สิ้นลมจมกับทุกขเวทนาอย่างเดียวดาย เมื่อถึงวันนั้น