ปัญหาในการฟื้นฟูสุขภาพหลังจากอาพาธหนักของพระที่พบอย่างหนึ่งคือ ท่านดูเหมือนไม่ค่อยมีพลังที่จะฮึดสู้ เพื่อฝืนฝึกตนเองให้กลับไปใช้ชีวิตได้อย่างปกติเช่นเดิมนัก ท่านมีแนวโน้มที่จะยอมรับสภาพ ปล่อยให้ชีวิตหรือร่างกายเป็นไปตามบุญตามกรรมเสียมาก
ยิ่งรูปที่บวชมานานๆ ไม่มีครอบครัว ไม่สนิทกับญาติพี่น้อง หรือไม่มีภาระหน้าที่ในวัดที่ต้องรับผิดชอบ ยิ่งเห็นภาพนี้ได้ชัดขึ้น กรณีเช่นนี้ญาติโยมหรือตัวพระอาพาธรูปนั้นอาจเข้าใจผิดไปว่า นี่คืออาการละวางไม่ยึดติดในชีวิต ในตัวตน หรือร่างกายนี้
แม้ในด้านหนึ่งอาจมีส่วนคล้ายการปล่อยวางสังขารอยู่บ้าง แต่นั่นควรเกิดขึ้นหลังจากผ่านการเพียรพยายามฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกายอย่างเต็มที่แล้วแต่ไม่ได้ผล หรือผู้ให้การรักษาลงความเห็นว่าหมดหนทางฟื้นฟูให้ดีขึ้นได้ แต่มิใช่ปฏิเสธไม่ทำตั้งแต่แรก หรือถอดใจง่ายๆ เมื่อทำครั้งแรกไม่ไหว โดยฝ่ายผู้รักษายังเห็นว่าสามารถพัฒนาได้อีกมาก
การที่พุทธศาสนาสอนให้ไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าร่างกายนี้เป็นเราหรือของเรา มิใช้ให้ทอดทิ้งไม่ใส่ใจดูแลร่างกาย ตรงกันข้ามท่านให้คุณค่าต่อชีวิตและร่างกายนี้มาก สนับสนุนให้ทุกคนดูแลรักษาสุขภาพ รักษาร่างกายและชีวิตนี้ให้ดี
เพราะพุทธศาสนามองว่ามนุษย์นั้นมีศักยภาพสูงมาก สามารถใช้ร่ายกายนี้เป็นฐานพัฒนาจิตให้พ้นจากทุกข์ และใช้สร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้คนและสังคมได้มากมาย เมื่อได้เป็นมนุษย์แล้วจึงต้องรักษาชีวิตไว้และใช้ให้คุ้มค่าที่สุดจนกว่าร่างกายนี้จะไม่ไหวร่วงโรยไปตามเหตุปัจจัยของแต่ละคน เมื่อถึงจุดนั้นจึงค่อยปล่อยวาง
เมื่อร่างกายผิดปกติเจ็บป่วยขึ้นมาพระพุทธองค์จึงให้พระช่วยกันดูแลภิกษุอาพาธ ช่วยบำบัดโรคให้หาย ที่ไหนขาดแคลนยารักษาโรคท่านให้ย้ายที่พักได้ รวมทั้งมีข้อยกเว้นทางวินัยเพื่อให้พระอาพาธได้มีทุกขเวทนาน้อยลง หรือช่วยให้หายจากอาพาธเร็วขึ้น
ในขณะที่รักษาตัวก็มิใช่ให้เฝ้ารอวันหาย หรือวันที่การรักษาได้ผล จนกลับไปใช้ชีวิตปกติเช่นเดิม แต่ให้มีสติพิจารณาธรรมจากความทุกข์กายที่กำลังประสบ แล้วใช้ชีวิตทุกขณะอย่างไม่ประมาท เร่งปฏิบัติพัฒนาปัญญา โดยคิดเสมอว่าถ้าอาการแย่ลงอีกเราจะพิจารณาธรรมได้ยากกว่านี้ หรืออาจไม่มีโอกาสได้ปฏิบัติอีกเลย
หากพบพระที่ท่านถอดใจในการรักษาหรือฟื้นฟูร่างกายตั้งแต่ต้น ทั้งๆ ที่ยังมีโอกาสอีกมากที่ร่างกายจะดีขึ้น อย่าเพิ่งรีบอนุโมทนาหรือชื่นชมว่าท่านปฏิบัติก้าวหน้าละวางได้ แต่ควรให้สติท่านว่า ชีวิตนี้ได้มายาก ถ้ามีโอกาสควรรักษาไว้ทำความดีต่อ อย่าด่วนปล่อยให้หมดสภาพไปเลย
แต่ถ้าพยายามกระตุ้นท่านอย่างเต็มที่แล้ว แต่ท่านก็ยัง “ช่างมัน” ไม่มีทีท่าว่าจะลุกขึ้นมาฟิตร่างกาย ก็คงยกไว้ว่าเป็นวิบากกรรมของท่านจริงๆ