การดูแลผู้ป่วยติดเตียงระยะท้ายนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งเหนื่อย หนัก น่ารังเกียจ และต่อเนื่องยาวนาน เมื่อโรงพยาบาลไม่สามารถรับภาระผู้ป่วยลักษณะนี้ได้ เพราะต้องการเตียงว่าง และนำทรัพยากรไปดูแลผู้ป่วยที่ยังมีโอกาสรักษาให้หาย จึงต้องส่งกลับไปให้ญาติดูแล
การดูแลผู้มีพระคุณที่ป่วยติดเตียง ก็ยังมีพลังแห่งความรัก ความผูกพัน กตัญญู มาช่วยหนุนเสริมให้ผู้ดูแลทำหน้าที่นี้ได้อย่างเข้มแข็ง อึด ทน จนลุล่วงไปได้
แต่ถ้าให้คนที่ไม่รู้จักมาดูแล เชื่อได้ว่าร้อยทั้งร้อยต้องปฏิเสธ แม้ความกรุณาอาจพาคนส่วนหนึ่งมาช่วยผู้ป่วยที่ลำบาก แต่ถ้าฝากให้ทำอยู่คนเดียวไม่มีใครเหลียวแล ไม่ช้าพลังแห่งกรุณาก็อ่อนล้าหมดแรงลง
วิธีที่มีประสิทธิภาพที่พอจะช่วยแก้ปัญหาใหญ่ซึ่งไม่มีใครทนทำนี้ได้คือ สร้าง“ระบบที่ดี” เปิดโอกาสให้มีหลายคนมาช่วยกันทำ
ในระดับครอบครัวเราจะเห็นได้ชัดว่า บ้านใดที่พี่น้องช่วยกันดูแลพ่อแม่ป่วย ผลัดเวร แบ่งหน้าที่ คนที่ไม่มีเวลาก็ช่วยหาทรัพย์มาจุนเจือ ภาระนี้ก็จะผ่านไปด้วยดี สร้างความกลมเกลียวสามัคคีให้พี่น้อง
แต่ถ้าเกี่ยงกันดันให้เป็นภาระของคนใดคนหนึ่ง นอกจากจะหนักอึ้งแล้ว ยังสร้างความตึงเครียดแตกแยกในครอบครัวได้ไม่ยาก
ในระดับสังคมก็ต้องมี “ระบบสุขภาพ” เข้ามาจัดการแบ่งหน้าที่ กระจายงาน ให้เวลาพัก ชื่นชม สร้างแรงจูงใจให้ค่าตอบแทน เบี้ยงเลี้ยง เกียรติยศ เพื่อดึงดูดใจให้คนมารับภาระอันหนักนี้
ในหมู่สงฆ์ พระพุทธองค์ทรงวางระบบ กำหนดหน้าที่ ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก ถึงขนาดมีพระดำรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดจะพึงอุปัฏฐากเรา ผู้นั้นพึงพยาบาลภิกษุอาพาธ” แม้พระที่ไม่เอาไหน ท่านก็มิให้ทอดทิ้ง เมื่อปฏิเสธระบบ ไม่ทำหน้าที่ จึงมีภาพพระอาพาธถูกทอดทิ้ง ส่งกลับให้ญาติดูแล แม้แต่สึกหาลาเพศไปก็มาก
การแก้ปัญหาพระอาพาธขาดผู้ดูแลนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง “จัดระบบใหม่” หรือ “ฟื้นฟูระบบเดิม” ให้มีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการจูงใจให้พระอาสามารับหน้าที่นี้เพิ่มขึ้น
ทุกวันนี้ทั่วประเทศมีพระที่ผ่านการอบรมให้ความรู้พื้นฐานในการดูแลพระอาพาธแล้วมากกว่าหนึ่งหมื่นรูป แต่เพราะ “ระบบ” ยังไม่ชัดเจน อบรมแล้วไม่รู้ว่าต้องทำอะไร ที่ไหน พระอาพาธส่วนใหญ่จึงยังไม่ได้รับการดูแล
สันติภาวันเคยขอรับพระอาพาธที่ถูกทอดทิ้งนอนจมสิ่งปฏิกูลอยู่ในวัดแห่งหนึ่งมาดูแล กระทั่งท่านมรณภาพไปแล้ว เราเพิ่งทราบภายหลังว่าวัดนั้นมีพระที่ผ่านการอบรมนี้ มาแล้วถึง ๒ รูป
การที่พระซึ่งผ่านการอบรมฯ ไม่เข้ามาดูแล มิใช่ว่าท่านใจดำ แต่ปัญหาสำคัญอยู่ที่ระบบ ท่านอาจไปอบรมโดยไม่เต็มใจ การให้ความรู้ไม่ดีพอ วัดไม่สานต่อให้ได้ลงมือทำ ไม่ให้กำลังใจ ไม่อุดหนุนทรัพยากรให้ท่าน เป็นต้น
เกือบ ๔ ปีที่ผ่านมา สันติภาวันมีพระอาสามาช่วยดูแล ๑๗ รูป มีเพียงรูปเดียวที่เคยผ่านการอบรมให้ความรู้มาก่อน ทุกท่านมาด้วยใจ แค่ได้เรียนรู้เทคนิคจากพระที่อยู่มาก่อน ท่านก็ลงมือช่วยงานดูแลได้แล้ว
แม้ “ใจ” จะผลักดัน แต่นั่นยังไม่เพียงพอหนุนให้ท่านลงมือทำงาน และทำได้นานอย่างมีความสุข
พระนับสิบรูปที่ “มีใจ” ติดต่อแจ้งเราว่าอยากมาช่วยงาน แต่ถึงเวลานัดหมายท่านกลับเงียบหายไปเฉยๆ ส่วนที่มาถึงแล้วเกือบครึ่งที่อยู่ช่วยได้ไม่นานเท่าที่ตั้งใจไว้แต่แรก
ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่าระบบของสันติภาวันก็ยังไม่ดีพอที่จะ “จูงใจ” ให้พระอยู่ช่วยงานได้อย่างต่อเนื่อง ระบบขององค์กรเล็กมักมีข้อจำกัดมาก เพราะมีระบบที่ใหญ่กว่าครอบอยู่ เช่น ท่านต้องกลับเพราะที่วัดโทรตาม จะต้องกลับไปจำพรรษา ต้องไปศึกษาต่อ เป็นต้น
ในขณะที่กรอบของพระธรรมวินัย ก็ทำให้แรงรูงใจบางอย่าง เช่น เงินทอง ของรางวัล นำมาใช้กับพระลำบาก
ระบบที่ดีนอกจากจะช่วยให้พระที่ “มีใจ” ทำงานได้อย่างต่อเนื่องแล้ว ยังสามารถชักจูงท่านที่ “ยังไม่มีใจ” ให้มาสนใจ หรือ “เปลี่ยนใจ” ให้มีฉันทะในงานนี้ หรือให้ตระหนักว่า “เป็นหน้าที่” แล้วลงมือทำอย่างมีความสุข
ระบบที่ดีต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี มีระบบที่ใหญ่กว่าเกื้อหนุน ไม่ทำให้ผู้ที่อยู่จุดนี้เกิดความรู้สึกด้อย ไปอยู่ตรงโน้น ไปทำเรื่องนี้ หรือไปเรียนด้านนั้น ดีกว่าดูแลพระอาพาธ
การที่รัฐมีนโยบายสนับสนุน “กุฏิชีวาภิบาล” เพื่อดูแลพระอาพาธระยะท้าย ถือว่าระบบใหญ่ได้ให้โอกาสที่หาได้ยากยิ่ง นอกจากภาครัฐจะกระตือรือร้นเข้ามาช่วยจัดระบบแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ ในสังคมได้เข้ามาสนับสนุน
คณะสงฆ์จึงควรใช้โอกาสพิเศษนี้ ทุ่มสรรพกำลังร่วมคิดกับภาครัฐและภาคีเครือข่าย ออกแบบ “ระบบ” ที่สอดคล้องกับพระธรรมวินัย ดึงพระอุปัชฌาย์-อาจารย์ ให้เข้ามามีบทบาทในการดูแลสัทธิวิหาริก และอันเตวาสิกของตนให้มากขึ้น
แต่หากคิดว่าสบายปล่อยโยมให้มาช่วยทำแทน โอกาสที่จะฟื้นฟูแนวทางการดูแลตามหลักธรรมวินัย ที่พระพุทธองค์ได้ฝากไว้ อาจไม่มีโอกาสเกิดขึ้นอีกเลย