เมื่อผู้ป่วยระยะท้ายมีอาการทรุดลงฉับพลัน มักเป็นช่วงเวลาที่ลำบากใจมากของผู้ดูแล เพราะต้องตัดสินใจว่าจะดูแลเองต่อ หรือพาไปหาหมอดี
ผู้ดูแลที่ไม่ได้เรียนรู้เรื่องการตายดีมาบ้าง มักไม่ลังเลที่จะนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล อย่างน้อยก็ทำให้รู้สึกว่าดีต่อผู้ป่วยที่ได้อยู่ในมือผู้เชี่ยวชาญ ตนเองก็ปลอดภัยไม่รู้สึกผิด หากผู้ป่วยต้องเสียชีวิตไปในคราวนั้น
เพราะโรงพยาบาลก็ย้ำอยู่เสมอว่า หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติหรือแย่ลงก็ให้รีบพามาโรงพยาบาล ฝ่ายญาติมิตรหากรู้ว่าเสียชีวิตที่บ้านคำถามแรกที่จะได้รับคือ “ทำไมไม่พาไปโรงพยาบาล” ยิ่งคนใกล้ชิดแต่ติดกิจไม่เคยช่วยดูแล อาจถึงขั้นกล่าวหาว่าเรามีเจตนาร้ายต่อผู้ป่วยจึงไม่ส่งโรงพยาบาล
เมื่อต้องก้าวข้ามสถานการณ์ที่น่าหนักใจ พุทธศาสนาแนะนำให้มีสติ ปัญญา และเจตนาที่เป็นกุศลกำกับเสมอ การพาผู้ป่วยไปโรงพยาบาลจะเหมาะสมหรือไม่สำรหรับพุทธศาสนา จึงอยู่ที่เจตนาของผู้ตัดสินใจเป็นสำคัญ หากทำด้วยสติ ปัญญา มีเจตนาเป็นกุศลแล้ว ไม่ว่าจะพาไปหรือไม่ การตัดสินใจนั้นก็ถือว่าเหมาะสม
เรื่องของเจตนา ดูเผินๆ น่าจะเป็นเรื่องง่าย เพราะต่างพาผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลด้วยความปรารถนาดี อยากให้หายเจ็บปวดทรมานมีชีวิตยืนนานต่อไป แต่หากพิจารณาดีๆ เจตนานั้นอาจยังไม่ประกอบด้วยสติปัญญาเต็มที่ก็ได้
อาจยังเป็นเจตนาที่ประกอบด้วยความกลัว เช่น กลัวพลัดพราก กลัวถูกคนรอบข้างตำหนิ กลัวกำพร้า กลัวคนว่าเป็นเหตุให้ผู้ป่วยตาย ฯลฯ
หรือเป็นเจตนาที่ประกอบด้วยอวิชชาคือความไม่รู้ ไม่รู้เจตนารมณ์ของผู้ป่วย ไม่รู้ถึงความทุกข์ที่ผู้ป่วยจะได้รับจากการยืดชีวิต ไม่รู้ว่าหมอมีขอบเขตการช่วยชีวิตได้แค่ไหน ไม่รู้ความเป็นไปของโรค หรือไม่รู้ว่าตัวเองกำลังกลัว ขณะเดียวกันก็ไม่รู้วิธีช่วยเหลือกายใจเมื่อคนไข้มีอาการทรุดลงอีกด้วย
การตัดสินใจส่งโรงพยาบาลตอนนั้นก็มักทำด้วยความเร่งรีบ รุ่มร้อน สติไม่มั่นคง ทั้งหมดนี้มีส่วนทำให้เกิดเจตนาที่ไม่เป็นกุศล อาจนำความเสียใจมาให้ภายหลัง กลายเป็นปมติดอยู่ในใจว่า “เราไม่น่า” หรือ “รู้แบบนี้ เราคง…”
กรณีหลวงพี่วิโรจน์ที่เพิ่งมรณภาพไปเช่นกัน มีผู้ตั้งข้อสงสัยว่าทำไมไม่พาท่านไปโรงพยาบาล เหตุที่ท่านทรุดเพียงเพราะกลืนอาหารไม่ได้ ร่างกายจึงผ่ายผอม อาการต่างๆ กำเริบ หากให้น้ำเกลือ ให้อาหารทางสายยางได้ ร่างกายท่านน่าจะฟื้นตัวมีชีวิตยืนยาวได้
ถ้าเรามีข้อมูลจำกัดก็อาจจะตัดสินใจเช่นนั้น แต่จากการอุปัฏฐากท่านอย่างใกล้ชิด ได้ศึกษาเรื่องโรค/อาการของท่านมาพักใหญ่ ทั้งได้ดูแลกายใจ รวมไปถึงความรู้สึกของคนใกล้ชิดที่ยังพอติดต่อได้ เราพบว่าการปล่อยให้ร่างกายท่านเป็นไปตามธรรมชาติโดยไม่ต้องแทรกแซง จะเป็นวิธีที่จะมีผลดีต่อท่านมากที่สุด
แม้ความรู้สึกของพวกเราเมื่อพระอาพาธแต่ละรูปมรณภาพไป จะเทียบไม่ได้เลยกับความรู้สึกสูญเสียพลัดพรากคนรักของผู้ดูแล แต่เราเชื่อว่าการดูแลผู้ป่วยด้วยสติ ปัญญา และเจตนาดีนี้ จะนำความอิ่มจิตใจมาสู่ผู้ดูแลทุกคนเสมอกัน เพราะเราได้พยายามส่งเขาจนถึงจุดสุดท้ายอย่างเต็มที่ แม้จะมีบางจุดที่ไม่ตรงกับความตั้งใจของเขาหรือคนรอบตัวเราก็ตาม
เจตนาดีอันมีสติปัญญาเป็นฐาน จึงเป็นดุจยาอีกขนานที่ไว้บำรุงใจของผู้ดูแล