เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา มีพระรูปหนึ่งซึ่งอยู่ตำบลใกล้ๆ กัน แวะมาเพื่อปรึกษาว่า ทางสันติภาวันพอจะรับพระตาบอดซึ่งมาขออาศัยอยู่ที่วัดท่านมาดูแลได้ไหม
ท่านว่าที่วัดไม่ค่อยสะดวกในการดูแล แถมญาติโยมรอบวัดก็รังเกียจ ตำหนิทางวัดว่ารับท่านเข้ามาให้เป็นภาระทำไม
เมื่อสอบถามรายละเอียดพบว่า พระตาบอดรูปที่ว่าท่านไม่ได้มีโรคประจำตัวอะไร ยังพอเดินเหินช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่ได้ต้องการดูแลอะไรมาก จึงบอกไปว่าหลวงพ่อท่านยังไม่อยู่ในเกณฑ์ที่เราจะรับดูแล ท่านเองถ้ามาอยู่กับเราในห้องรวมซึ่งมีแต่พระอาพาธติดเตียงก็คงไม่เหมาะ ไม่สะดวกเท่ากับอยู่กุฏิส่วนตัวที่วัด
หลวงพี่ที่มาติดต่อ ดูท่านมีความกังวลมากต่อท่าทีเชิงลบของญาติโยม ที่วัดรับพระตาบอดรูปนี้มาพำนัก แม้จะเป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ว่าทำไมญาติโยมรู้สึกเช่นนั้น เพราะธรรมดาคนชราที่ตาบอดย่อมเป็นภาระต่อผู้อื่นอยู่แล้ว แม้ไม่มากหรือยุ่งยากเท่าผู้ปวยติดเตียงก็ตาม แต่ที่น่าตกใจคือท่าทีแบบนี้เกิดขึ้นกับพระ ซึ่งโยมที่เข้าวัดอยู่เสมอควรมีความเคารพ ให้ความกรุณาต่อท่าน และยังเกิดขึ้นที่วัดเล็กๆ ในพื้นที่ชนบทอีกด้วย
เรื่องนี้แสดงถึงอิทธิพลของสังคมยุคใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อพระและศาสนาได้ดี ในยุคที่เราให้ความสำคัญต่อหน้าตา รูปลักษณ์ และประสิทธิผลที่สูงมาก ภาพลักษณ์ของสินค้า หน้าร้าน บริการ รวมทั้งผู้คนตามสื่อ จึงเต็มไปด้วยภาพคนเก่ง หน้าตาดี มีพลังทั้งสิ้น
ทำให้วัดได้พัฒนาไปตามกระแสนี้ด้วย นอกจากต้องมีอาคารสถานที่ใหญ่โตสวยงามแล้ว พระและพิธีกรรมในวัดยังถูกจัดให้ “เนี้ยบ” ซึ่งเห็นได้ชัดในวัดชั้นนำในเมือง พระในพิธีจะมีรูปร่างส่วนสูงใกล้เคียงกัน นุ่งห่มจีวรอย่างประณีต กิริยาอาการขณะทำกิจ ไม่ว่าการกราบ ประนมมือ ถือตาลปัตร จะทำอย่างพร้อมเพรียงงดงามตามที่กำหนด
แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้พุทธศาสนาดูดีและเป็นที่ยอมรับในสังคมมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็ทำให้พระที่พิการ ชรา อาพาธ หรือเพียงอ้วน เตี้ย มีรอยสัก อันไม่เป็นไปตามเกณฑ์พระที่ดูดีในยุคนี้หมดคุณค่า ถูกปล่อยทิ้งไว้ข้างหลัง ถูกมองว่าเป็นภาระ สมควรที่จะกีดกัน หรือกดดันให้ออกจากวัด
เรื่องนี้อาจมองว่าเล็กน้อย แต่สามารถบั่นทอนความเข้มแข็งมั่นคงของพระศาสนาได้มาก เพราะทำให้เกิดคำถามในหมู่พระว่า จะอยู่อย่างไรเมื่อสูงวัยขึ้น หรือตกมาตรฐานพระที่ดูดี
เมื่อไม่มั่นใจในสถานภาพ ก็ไม่มั่นคงในผ้าเหลือง อยู่แบบเตรียมลู่ทางสึกหาลาเพศออกไปหาความมั่นคงนอกวัด
พระแทนที่อยู่อย่างลดละ ปล่อยวาง ตั้งใจศึกษาปฏิบัติธรรม กลับต้องจดจ้องหาโอกาสสร้างความมั่นคงให้ชีวิตในอนาคต
ภาพที่พระหันมาศึกษาปริญญาทางโลก สะสมเงินทอง มองตามเทคโนโลยี คลุกคลีกับโยมที่มีฐานะมีอิทธิพล จึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก
ถ้าจะมิให้วัดถูกพัฒนาตามกระแสแต่ฝ่ายเดียว ชาวพุทธต้องปรับมุมมองต่อการพัฒนาวัดกันใหม่ วัดที่ดีต้องมิใช่มีแค่สิ่งก่อสร้างที่ใหญ่โต พิธีการเนี้ยบ เพียบด้วยของขลังเท่านั้น แต่ต้องสามารถพาญาติโยมให้เข้าถึงพระ และธรรมะได้ด้วย
อารามอันเป็นอีกมิติหนึ่งของวัด ที่มุ่งเน้นด้านที่พักอาศัยพัฒนากายใจของพระเณร ต้องได้รับความสำคัญและพัฒนาไปพร้อมๆ กัน ไม่เพียงแต่มีความร่มรื่น เป็นรมณียสถาน เหมาะกับวิถีชีวิต การพัฒนาจิตของพระ เณร เถร ชี เท่านั้น แต่ต้องมีความสัมพันธ์ที่อบอุ่นภายใต้พระธรรมวินัย ในความหลากหลายของพระเณร ทั้งวัย นิสัย พรรษา ความสามารถ และสภาพร่างกายด้วย
ทุกวันนี้สังคมภายนอกได้พัฒนากิจกรรม เปิดโอกาส และให้สิทธิพิเศษกับผู้สูงอายุ/ผู้พิการเพิ่มขึ้นมาก แต่วัดซึ่งเป็นศูนย์กลางแห่งคุณธรรมเมตตาธรรมกลับละเลยเรื่องนี้ จนมีเหตุการณ์ที่นำมาเล่าข้างต้น
การพัฒนาอารามให้มีความอบอุ่นนั้น สามารถทำร่วมกับการเป็นวัดที่สวยงาม มีพิธีกรรมที่เป็นระเบียบได้ โดยอาศัยความตั้งใจของคณะสงฆ์ ความเมตตาของเจ้าอาวาสและพระในวัด รวมถึงญาติโยม ชุมชนรอบวัด และทัศนะของชาวพุทธโดยรวม
เริ่มที่พระด้วยกันเอง ต้องเห็นคุณค่ามีเมตตาต่อกัน โดยเฉพาะท่านที่ด้อยศักยภาพกว่า พร้อมทั้งบอกกล่าวญาติโยมให้เห็นคุณค่าของการมีพระทุกวัยในวัด เปิดโอกาสให้พระพิการ ชรา อาพาธ ฯลฯ ได้ร่วมกิจกรรมตามกำลังของท่าน สร้างความมั่นใจให้ท่านว่า จะสามารถอยู่วัดได้อย่างมั่นคงจนลมหายใจสุดท้าย
กิจเหล่านี้ถือว่าเป็นบุญใหญ่ช่วยสืบทอดลมหายใจของพระศาสนา ได้ดีกว่าให้ลูกหลานมาบวช ๑๕ วันยิ่งนัก