คงไม่มีใครปฏิเสธความยากลำบากเมื่อต้องดูแลผู้ป่วยติดเตียงที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ในเมื่อเราปฏิเสธไม่ได้ว่าสภาวะเช่นนี้ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับตัวเราหรือครอบครัวของเรา สิ่งที่พอทำได้คือยอมรับและเตรียมพร้อมรับมือก่อนที่วันนั้นจะมาถึง
การตระเตรียมเพื่อการนี้ ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวที่ใครสามารถทำได้เงียบๆ คนเดียว อย่างน้อยก็ต้องมีอีกคนที่เรามั่นใจว่าจะดูแลกันไปจนถึงวันนั้นของชีวิต จะให้ดีไปกว่านั้นถ้าคนในครอบครัวมาช่วยกันก็จะเบาแรงและมั่นคงยิ่งขึ้น ยิ่งถ้าหากมีชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียงใส่ใจช่วยเหลือกัน มีองค์กร NGO หรือระบบของรัฐมาเกื้อหนุน ยิ่งอุ่นใจไม่หวั่นไหวแม้อยู่เพียงลำพัง
สำหรับพระภิกษุสงฆ์พระพุทธองค์ทรงวางแนวทางเรื่องนี้ไว้แล้ว เริ่มตั้งแต่ยามที่ยังแข็งแรงก็มีข้อวัตรปฏิบัติเพื่อการมีสุขภาพดี เช่น แนะนำให้เคี้ยวไม้สีฟัน เดินจงกรม ฉันมื้อเดียว ฉันข้าวยาคู ฯลฯ รวมทั้งแนะนำให้ตัดเล็บให้สั้น ไม่ให้ฉันน้ำจากภาชนะเดียวกัน ให้นอนในมุ้งหากยุงชุม ไม่ให้จำพรรษาในที่แจ้ง (เพราะเป็นฤดูฝน) รวมทั้งทรงแนะนำยาไว้ให้ใช้ยามเมื่ออาพาธด้วย
ในระดับชุมชนและสังคมคือในอาราม ก็ทรงแนะนำด้านความเป็นอยู่ ให้รู้จักรักษาความสะอาด จัดเสนาสนะให้เหมาะสมตามฤดูกาล บอกวิธีใช้ส้วมอย่างเหมาะสม ฯลฯ รวมถึงไม่ให้หมู่สงฆ์ทอดทิ้งกันยามอาพาธ แม้จะไม่ได้อยู่ร่วมวัดหรือเป็นศิษย์ร่วมอุปัชฌาย์อาจารย์กันก็ตาม
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป การปฏิบัติตามวินัยบางข้อยากขึ้น ความเคร่งครัดต่อข้อวัตรวินัยของพระก็ย่อหย่อนลง หากพระต้องการสร้างความมั่นคงให้ชีวิตในช่วงท้าย จะต้องเตรียมความพร้อมให้เข้มข้นขึ้น ไม่เฉพาะในส่วนตนเองเท่านั้น แต่ต้องผลักดันให้วัดและชุมชนคือคณะสงฆ์และญาติโยมเข้ามามีส่วนร่วม จึงจะสัมฤทธิ์ผลจริง
การกระตุ้นให้วัดจัดระบบดูแลพระอาพาธอย่างเป็นรูปธรรม จึงเป็นหน้าที่ของพระทุกรูปในวัด มิใช่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าอาวาสเท่านั้น (ซึ่งท่านอาจลอยตัวจากปัญหาเมื่อเจ็บป่วยแล้ว) ที่สำคัญต้องทำโดยมิได้หวังเพียงแค่ให้ผู้อื่นช่วยตนเท่านั้น แต่จะต้องเสียสละเข้าไปช่วยดูแลพระในวัดรูปอื่นๆ ยามท่านอาพาธด้วย
ระบบของวัดที่ดี จะช่วยพลังเสริมพลังให้พระใส่ใจดูแลสุขภาพของตนมากขึ้น ทั้งการออกกำลังกาย เลือกฉันอาหารที่เหมาะสม และลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพลง ที่สำคัญคือช่วยกันคัดกรองมิให้ผู้ที่ตั้งใจเข้ามาเป็นภาระแก่หมู่สงฆ์ ได้เข้ามาบวช (ครั้งพุทธกาลทรงห้ามมิให้บวชผู้ที่เป็นโรคกุฏฐัง (เรื้อน) ก็เพราะเหตุนี้)
ยิ่งถ้าพระผู้ใหญ่ในคณะสงฆ์เห็นความสำคัญและมุ่งมั่นทำเรื่องนี้ กำหนดเป็นนโยบาย เป็นตัวชี้วัดการพัฒนาวัด รวมทั้งสนับสนุนทรัพยากรเพิ่มให้วัดที่ต้องดูแลพระอาพาธ จะยิ่งทำให้เรื่องนี้เกิดเป็นรูปธรรมได้อย่างรวดเร็วยิ่งกว่าให้พระในแต่ละวัดผลักดันกันเองมาก
แม้การมุ่งพัฒนาจิตและปัญญาเพื่อพ้นจากทุกข์ทั้งปวง จะเป็นเป้าหมายหลักในการปฏิบัติของพุทธศาสนา แต่ท่านไม่เคยให้ทอดทิ้งเรื่องการดูแลสุขภาพร่างกาย ไม่ปล่อยให้ใครตายโดยไม่ใยดี ตรงกันข้ามท่านให้ใช้ความกรุณาช่วยเหลือกันยามอาพาธ
จึงเป็นหน้าที่ของวัด/พระ ที่ต้องเห็นความสำคัญชองการดูแลสุขภาพตนเอง และช่วยเหลือเพื่อนสหธรรมิกร่วมอารามยามอาพาธ แม้เป็นวัดใหญ่ ผู้คนศรัทธา มีครูบาอาจารย์โด่งดัง แต่หากยังทอดทิ้งพระอาพาธให้ญาติรับไปดูแลเอง จะบอกผู้คนได้อย่างไรว่าเป็นศิษย์ของพระตถาคตผู้ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอไม่มีมารดาไม่มีบิดา ผู้ใดเล่าจะพึงพยาบาลพวกเธอ ถ้าพวกเธอจักไม่พยาบาลกันเอง ใครเล่าจักพยาบาล
นี่คือพระดำรัสของพระบรมศาสดาแก่ภิกษุทั้งหลาย ที่เราไม่ควรละเลย