ข้อมูลทั่วไปของหลวงตาชาติก่อนที่เราจะรับรับเข้ามาดูแลมิได้มีอะไรซับซ้อนน่าหนักใจเลย ท่านเพิ่งนอนติดเตียงไม่ถึงเดือนมีโอกาสฟื้นฟูให้กลับมาเดินได้ไม่ยากนัก ยังกลืนอาหารเองได้ไม่ต้องให้ทางสายยาง และยังพอพูดคุยสื่อสารกันได้ ส่วนการขับถ่ายถ้าใช้ผ้าอ้อมสำเร็จรูปก็คงไม่มีปัญหา
แต่เมื่อลงมือดูแลเข้าจริงๆ กลับมีหลายเรื่องที่ไม่ง่ายอย่างที่คิด มีหลายจุดที่ทำให้เราได้เรียนรู้แก้ปัญหาอย่างน่าสนใจ
คืนแรกท่านนอนหลับได้ดี เช้ามืดก่อนออกบิณฑบาตเราตรวจดูแล้วทุกอย่างเรียบร้อย มีแค่ปัสสาวะเปื้อนที่นอนซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดามากในการดูแลผู้ป่วยติดเตียง แต่พอกลับจากบิณฑบาตมาถึงตัวอาคารเท่านั้น หลวงพี่โตถึงกับโพล่งออกมาว่า “หลวงตามาได้ยังไง?” เมื่อพบว่าท่านมานั่งยองๆ อยู่ที่หน้าประตูกระจกข้างทางเดิน ซึ่งห่างจากเตียงเกือบ ๕ เมตร และที่กั้นทั้ง ๒ ข้างของเตียงก็ยังยกขึ้นอยู่เหมือนเดิม
เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ท่านเดินได้เองอีกครั้ง แต่ที่น่ายินดีกว่านั้นคือท่านปีนลงจากเตียงได้อย่างปลอดภัย ทำให้เรามีโจทย์แรกที่ต้องคิดว่าคืนนี้จะจัดให้ท่านนอนอย่างไร และได้ข้อสรุปว่าควรนำเบาะลงมาปูที่พื้นให้ท่านนอน เพราะโชคดีอาจไม่ได้มีบ่อยนักหากท่านปีนลงจากเตียงทุกคืน
เมื่อได้ลงมือป้อนข้าวต้ม กับต้มจืด ไข่เจียว อาหารอ่อนของผู้ป่วยส่วนใหญ่ เราก็ได้เรียนรู้เพิ่มเติมอีกว่า สำหรับหลวงตาแล้วไม่ต้องพูดถึงผักต้มหรือหมูบด แม้แต่ไข่เจียว หรือไข่ขาวต้ม ก็เหนียวเกินไปสำหรับท่าน สรุปว่าอาหารที่จะป้อนท่านต้องนำมาเข้าเครื่องปั่นให้ละเอียดก่อนเท่านั้น
การใช้ผ้าอ้อมสำเร็จก็ไม่ใช่ทางออกที่ดีสำหรับหลวงตา อาจเป็นเพราะท่านรำคาญหรือไม่คุ้นเคย เราจะเห็นท่านดึงชายผ้าอ้อมอยู่เรื่อยๆ และในที่สุดท่านก็พบวิธีของท่านคือล้วงออกมาปัสสาวะนอกผ้าอ้อม ช่วงแรกท่านจะเดินออกนอกห้องไปปัสสาวะข้างต้นไม้ แต่ครั้งหนึ่งท่านคงมองเห็นสวนเขียวๆ อยู่ไม่ไกล จึงใช้วิธีปีนข้ามเก้าอี้ที่ระเบียง ยังดีที่มีคนเห็นคว้าตัวท่านไว้ได้ทันก่อนที่จะตกลงไป ในที่สุดเราต้องเลิกใส่ผ้าอ้อมให้ท่าน แต่หมั่นถามว่า “หลวงตาปวดเยี่ยวมั้ย?”
ช่วงกลางคืนเรามีทั้งกระบอกปัสสาวะและกระโถนไว้ที่ปลายเตียง เปิดไฟ/เปิดประตูห้องน้ำซึ่งอยู่ใกล้ๆ ไว้รอ แต่คงเป็นเพราะท่านยังหลง งงกับสถานที่ซึ่งไม่คุ้นเคย รุ่งเช้านอกจากเราจะพบว่ามีปัสสาวะบนที่นอนแล้ว ยังพบว่าท่านเดินไปปัสสาวะไว้ตามมุมห้อง ขอบประตู ไม่ซ้ำจุดกันในแต่ละวัน แล้วก็ย้ายไปนอนบนเตียงแทบทุกเตียงที่ว่างอยู่ อาจเป็นเพราะเตียงเดิมเปียก จำที่นอนเดิมไม่ได้ หรืออยากนอนบนเตียงมากกว่าเบาะบนพื้นก็ได้
การลุกเดินในช่วงกลางคืนยังรบกวนหลวงพ่อมานิต จนบางครั้งท่านถึงกับโวยวายขึ้นมากลางดึก (ท่านพูดออกมาเป็นคำไม่ได้) ปัญหานี้ลงเอยด้วยการแยกหลวงตาชาติมานอนอีกห้องหนึ่งในช่วงกลางคืน ล็อกประตูจากด้านนอกไว้ป้องกันท่านเดินออกไปปัสสาวะหลงไปกลางดึก หลังจากเคยมีประสบการณ์ในตอนกลางวันมาแล้ว ที่ท่านเดินคนเดียวไปไกลกว่า ๕๐ เมตร ออกนอกรั้วข้ามถนนจะไปสวนฝั่งตรงข้าม พอถามท่านว่าหลวงตาจะไปไหนท่านบอกว่า “จะกลับบ้าน”
ถึงจุดนี้ทำให้เราตระหนักว่าน่าจะเกิดประโยชน์และปลอดภัยต่อตัวหลวงตามากกว่า หากช่วงที่ร่างกายกำลังฟื้นตัวกลับมาเดินได้ ความจำที่ค่อยๆ ฟื้นคืนมานี้ หากท่านได้อยู่ในสถานที่ที่คุ้นเคยมาก่อนน่าจะช่วยให้ท่านจำเรื่องราวได้มากขึ้น และทำกิจต่างๆ สะดวกขึ้น
ในที่สุดเราจึงติดต่อกลับไปหาญาติของท่าน ให้ลองไปปรึกษากับทางวัดเพื่อรับท่านกลับไปดูแล และได้รับคำตอบว่าทางวัดยินดีดูแลต่อให้ ์๒-๓ วันต่อมา ญาติจึงมารับท่านกลับไปอยู่วัดเดิม ซึ่งเราก็ได้รับปากไว้ว่าหากท่านอยู่ไม่ได้หรืออนาคตร่างกายทรุดลงจนวัดดูแลไม่ไหว จะส่งกลับมาให้เราดูแลอีกก็ยินดี
การดูแลผู้ป่วยในช่วงท้ายของชีวิตเป็นเรื่องที่ต้องค่อยๆ เรียนรู้แก้ปัญหากันไปให้เหมาะกับแต่ละรายที่มีรายละเอียดต่างกัน หากผู้ป่วยได้รับการดูแลในพื้นที่ที่คุ้นเคย โดยคนที่รักรู้จักรู้ใจกันอยู่ก่อน การดูแลก็ง่ายขึ้นมาก แต่ความเข้าใจ เห็นใจ ร่วมกับความปรารถนาดีที่อยากให้ผู้ป่วยมีชีวิตช่วงท้ายที่สงบเย็น ก็สำคัญมากที่จะช่วยให้เราอภัย ใจเย็นลงได้ง่าย เมื่อพบว่าท่านทำอะไรไม่ถูกต้องไม่ถูกใจเรา
การได้ดูแลหลวงตาชาติแม้เพียงสัปดาห์เดียว ก็เปิดโอกาสให้พวกเราได้เรียนรู้ชีวิต ได้เข้าใจความเจ็บป่วยเพิ่มขึ้นหลายมิติ พร้อมกันนั้นก็ทำให้เรามีคามสุข สนุกที่ได้เรียนรู้เข้าใจธรรมชาติของจิตใจตนเองอีกไม่น้อย ขอบคุณหลวงตาชาติที่เปิดโอกาสให้เราได้ปฏิบัติธรรมกับท่าน