“สาธุ” เป็นคำคอมเมนต์ที่เราได้รับมากที่สุดตลอดมาในทุกๆ โพสต์ แม้เป็นคำสั้นๆ แต่ก็ให้กำลังใจหนุนการทำงานของพวกเราได้ไม่น้อย
“สาธุ” กลับมากระตุกให้เราฉุกคิดอีกครั้ง จากกระแสซีรีส์เรื่อง “สาธุ” ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับพระ วัด และการหากินกับศรัทธาของชาวพุทธ พร้อมกับมีโยมที่คุ้นเคยกันมานาน เปรยถามขึ้นว่า…
“การหากินกับพระอาพาธ ในแง่การตลาดก็น่าจะเวิร์คนะครับ? แค่เห็นภาพพระป่วย ใครๆ ก็อยากช่วยเหลือ”
“จริงที่สุด”
ช่วง ๒-๓ ปีที่ผ่านมา มีคนนำรูปพระอาพาธของสันติภาวัน ไปโพสต์หาเงินเข้าบัญชีตัวเองอยู่หลายครั้ง ทำให้เราต้องไปแจ้งความ และเพิ่มลายน้ำลงบนภาพที่มีพระอาพาธเพื่อป้องกันไว้ในเบื้องต้น
ยิ่งในระยะหลังนี้ จะพบว่ามีการเรี่ยไรเพื่อขอให้ช่วยเหลือพระที่อาพาธเพิ่มขึ้นมากในสื่อโซเชียล ถึงขั้นจ้างยิงโฆษณา หาคนทำตลาด เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้นอย่างเป็นระบบ
จึงไม่ใช่เรื่องยาก ที่ผู้มีเจตนาไม่บริสุทธิ์ จะแทรกตัวเข้ามาหาผลประโยชน์จากเรื่องนี้
แน่นอนว่าเรื่องของศรัทธานั้นห้ามกันยาก พุทธศาสนาเองก็ยังต้องอาศัยศรัทธาจากญาติโยมสนับสนุนค้ำจุนอยู่
แต่กระนั้นพระพุทธองค์ก็ทรงย้ำให้เราใช้ปัญญากำกับศรัทธาอยู่เสมอ มิให้เลยเถิดเป็นความลุ่มหลงงมงาย กลายเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ
ช่วงนี้วงการสงฆ์กำลังตื่นตัวทำกุฏิชีวาภิบาล ไว้ดูแลพระอาพาธติดเตียงกันมากขึ้น ยิ่งต้องระมัดระวังในการสื่อสารสู่สังคมภายนอก
การดูแลพระอาพาธติดเตียงนั้นใครๆ ก็รู้ว่าต้องใช้ปัจจัยไม่น้อย แต่เท่าไหร่จึงพอดี มีวิธีการได้มาอย่างไรจึงจะเหมาะสม ผู้เกี่ยวข้องต้องพิจารณาให้รอบคอบ
หากการดูแลพระอาพาธมุ่งให้เป็นเรื่องของพระในวัด โดยมีชุมชนเกื้อกูลพระ มีคณะสงฆ์และวงการสุขภาพหนุนเสริมส่วนที่ขาด กิจนี้ก็จะเป็นเครื่องมือสร้างความสามัคคีให้วัด และสกัดการเข้ามาของมิจฉาชีพได้ส่วนหนึ่ง
แต่ถ้าไม่ช่วยกันระมัดระวัง ปล่อยความโลภคืบคลานเข้ามา กุฏิชีวาภิบาลก็คงไม่ยังยืน
พระอาพาธย่อมกลายเป็นสินค้าตัวใหม่ ที่ถูกมิจฉาชีพนำไปใช้หากินกับพุทธบริษัทผู้มีศรัทธาอย่างแน่นอน
อย่าให้ “สาธุ” เป็นเพียงคำชื่นชม หรือเป็นภาพยนตร์ที่น่าดูเท่านั้น
“สาธุ” ควรเป็นคำเตือนใจ ให้นำปัญญามาคู่กับศรัทธาอยู่เสมอ…
“สาธุ”