ด้วยความเมตตาของหลวงพ่อเจ้าคุณฯ ผู้เป็นประธานสงฆ์แห่งที่พักสงฆ์ป่ามะขาม ปากช่อง ที่เห็นคุณค่าของการทำสถานที่ดูแลภิกษุอาพาธระยะท้าย ท่านจึงแบ่งเตียงผู้ป่วยและอุปกรณ์ที่จำเป็นแทบทุกอย่างสำหรับดูแลผู้ป่วยที่ท่านมีอยู่ให้เรามาทำสันติภาวัน เราจึงใช้เวลาเตรียมพื้นที่รองรับภิกษุอาพาธให้แล้วเสร็จได้ในเวลาไม่ถึง ๓ เดือน
ต้นเดือนกุมภา เราเริ่มแจ้งข่าวกับเพื่อนๆ หน่วยงาน และโรงพยาบาลที่เราคุ้นเคยก่อน ว่าเราพร้อมรับพระอาพาธระยะท้ายมาดูแลแล้วนะ เพราะเกรงว่าหากประชาสัมพันธ์ออกไปในวงกว้าง พระอาพาธจากที่ต่างๆ จะถูกส่งมาจนเรารับไม่ไหว คิดไปไกลถึงขนาดว่าอาจมีใครอุ้มท่านมาวางทิ้งไว้ให้เราดูแลต่อ แต่รอไปสองเดือนกว่าก็ไร้วี่แววว่าจะมีพระอาพาธระยะท้ายมาให้เราดูแล
กลางเดือนเมษาเราจึงทำเฟซบุ๊กเพจเปิดตัวโดยไม่กลัวผู้ป่วยแห่กันมาอีกต่อไป โดยชี้แจงเงื่อนไข ให้ข้อมูลที่จำเป็นต่างๆ เพื่อให้คนช่วยกันบอกต่อไปยังกลุ่มเป้าหมาย ผลตอบรับในการเข้าชมเพจและบอกต่อก็ไม่เลวร้าย แต่ไม่วายบรรยากาศยังเงียบสนิทเช่นเคย
เรารุกต่อโดยทำหนังสือแจ้งไปยังฝ่ายปกครองคณะสงฆ์ ฝากท่านประชาสัมพันธ์ให้พระสังฆาธิการทุกระดับในจังหวัดให้ได้รับรู้ หลายท่านดูสนใจ แต่แล้วก็ไม่มีอะไรคืบหน้าไปกว่าเดิม
ถึงเดือนพฤษภาเราจึงจัดกิจกรรมเยี่ยมพระอาพาธที่รักษาตัวในหอผู้ป่วยสงฆ์โรงพยาบาลชัยภูมิขึ้นทุกๆ วันพุธ กิจกรรมนี้มิใช่เพียงแค่ “ทำให้เรามีอะไรทำ” แต่เป็นกิจกรรมที่ทำให้เราได้เรียนรู้ถึงความซับซ้อนของปัญหาที่พระอาพาธแต่ละรูปพบ แปดเดือนที่ไปเยี่ยมพระอาพาธในโรงพยาบาลไม่เคยขาด ได้เห็น ได้ยินข่าวการมรณภาพของพระที่เราเคยเยี่ยมนับสิบรูป แต่ยังไม่มีโอกาสรับพระอาพาธจากโรงพยาบาลมาดูแลเลย
มีบ้างที่เจ้าหน้าที่ถามว่าสันติภาวันสนใจรับพระอาพาธรูปนั้นรูปนี้ไปดูแลไหม แต่เราต้องตอบปฏิเสธไปเพราะท่านไม่อยู่ในเกณฑ์ที่เราจะรับ เช่น ท่านมีอาการทางจิต หรือเป็นอัมพฤกษ์/อัมพาต ซึ่งต้องดูแลไปอีกหลายปี เรามีแค่ ๓ เตียง ที่ตั้งใจไว้ดูแลพระอาพาธระยะท้าย จึงไม่สามารถช่วยท่านได้ (ทั้งๆ ที่รู้ว่าเมื่อกลับไปวัด/บ้านก็แทบจะไม่มีใครดูแล)
ในขณะที่อีก ๕-๖ ราย เราเห็นว่าหากได้ดูแลท่าน ท่านคงจะมีความสุขใจจากไปอย่างสงบ แต่ก็พบกับอุปสรรคที่ไม่สามารถนำท่านไปสันติภาวันได้ เช่น สภาพร่างกายไม่พร้อม ยังติดเชื้อมีไข้ ยังให้ยาไม่ครบ ยังใช้เครื่องช่วยหายใจ แพทย์/ญาติยังหวังว่าจะหาย หรือมีแผนที่จะนำท่านไปรักษาที่อื่นต่ออีก แม้ในกรณีที่ยอมรับว่าท่านคงไม่ไหวแล้ว จำนวนไม่น้อยญาติก็ยังอยากให้ท่านอยู่ที่โรงพยาบาลต่อ หรือไม่ก็นำกลับบ้าน
เมื่อ ๓ สัปดาห์ก่อน เราได้รับการติดต่อจากหอผู้ป่วยระยะท้ายของ รพ.รัฐแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ว่ามีพระท่านอยากกลับไปอยู่วัดที่โคราช แต่ลูกคนเดียวที่อยู่ทางโน้นบอกว่าไม่พร้อมที่จะดูแล ที่วัดเองก็มีแต่พระชราจะให้มาดูแลท่านคงไม่ไหว ทางสันติภาวันจะพอรับได้หรือเปล่า หลังจากประเมินว่าเราพอดูแลได้ จึงให้คำตอบไปอย่างไม่ลังเลว่า หากท่านเต็มใจมาเราก็พร้อมรับดูแลท่าน
พยาบาลบอกว่าแรกทีเดียวยังไม่กล้าบอกเรื่องนี้กับท่าน ลังเลอยู่ ๒-๓ วัน ด้วยเกรงว่าท่านจะน้อยใจคิดว่าโรงพยาบาลผลักไสไม่อยากดูแล แต่พอได้คุย กลับพบว่าท่านสนใจหน้าตาแจ่มใสบอกว่าอยากไปมาก
เรามีโอกาสได้ไปเยี่ยมพูดคุยกับท่านด้วย ซึ่งก็จริงอย่างที่เจ้าหน้าที่บอก พอรู้เรามาจากไหนท่านดูสดใสตั้งใจสอบถามข้อมูลต่างๆ หวังที่จะได้ไปอยู่ให้สบายใจในช่วงท้ายชีวิต ท่านลงรายละเอียดถึงขนาดว่าทางเราห่มผ้าจีวรสีเดียวกับท่าน ถามว่าที่วัดยังพอมีผ้าสังฆาฏิเหลือบ้างไหม เพราะตอนนี้ผ้าของท่านไม่รู้ไปอยู่ไหนแล้ว พร้อมกับวาดฝันไว้ด้วยว่ามีพระเพื่อนอยู่อำเภอใกล้ๆ จะได้โทรไปให้ท่านแวะมาคุยด้วย
ปัญหาติดอยู่ที่ลูกที่กรุงเทพฯ ๒ คน ซึ่งพยาบาลคุยด้วยแล้วพบว่าไม่อยากให้หลวงพ่อไป ทั้งๆ ที่ตนเองก็มาเยี่ยมท่านได้เพียงสัปดาห์ละครั้ง พอหลวงพ่อรู้ว่าลูกคัดค้านไม่อยากให้ไปก็ขอโทรศัพท์จะคุยด้วย แต่พยาบาลเจรจาว่าน่าจะได้นัดคุยพร้อมหน้ากันทีเดียว ทราบว่าการพูดคุยครั้งนั้นก็ไม่ง่ายนัก แต่สุดท้ายก็แจ้งเรามาว่าอีก ๖ วัน ซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่ผ่านมาลูกหยุดงานจะมาส่งหลวงพ่อด้วยกัน
ก่อนถึงวันนัดหมายเจ้าหน้าที่แจ้งว่า ๓-๔ วันที่ผ่านมานั้น หลวงพ่ออาการไม่ดี มีไข้ ปอดติดเชื้อ ซึมลงมาก เกรงว่าจะไม่สะดวกหากเดินทางไกล อยากให้แพทย์ประเมินอีกครั้ง พอถึงวันนัดเขาเล่าว่าหลวงพ่อกลับดูสดใสขึ้นมากและจำได้ด้วยว่าวันนี้มีนัดจะเดินทางไปชัยภูมิ แต่กว่าจะประเมินและเตรียมการต่างๆ พร้อม เวลาก็ล่วงเลยจึงตกลงกันใหม่ว่าจะเดินทางวันรุ่งขึ้น
แต่ก็ช้าเกินไปหลวงพ่อไม่รอเราแล้ว ทางโรงพยาบาลแจ้งว่าท่านมรณภาพ ตอน ๑๑ โมงวันอาทิตย์นี้เอง
จะเห็นได้ว่าการจัดเตรียมพื้นที่เพื่อทำศูนย์ดูแลแบบสันติภาวันนั้นไม่ยากนัก แต่จะทำให้พระตระหนักถึงความสำคัญในการเตรียมตัวเพื่อการตายที่ดีนั้นยากกว่า ส่วนการช่วยให้ความปรารถนาในช่วงท้ายชีวิตของท่านบรรลุผลนั้นจัดว่าเป็นเรื่องยากที่สุด เพราะต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งวงการแพทย์ หมู่สงฆ์ ญาติ โยม ศิษย์ รวมถึงวิธีคิดมุมมองของชาวพุทธโดยรวมด้วย
แต่ก็ใช่ว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากเรามาช่วยกันทำในจุดที่แต่ละคนพอทำได้ สันติภาวันเป็นเพียงหนึ่งในอีกหลากหลายช่องทางที่เราควรช่วยกันทำ เพื่อให้การตายดีของพระและชาวพุทธโดยรวมเป็นจริงขึ้นมาได้