ความตาย แม้จะเป็นเรื่องที่ใครๆ ไม่อยากพูดถึง ไม่สนุก ดูน่ากลัว ไม่เป็นมงคล โดยเฉพาะหากเป็นเรื่องความตายของคนใกล้ตัว คนที่เรารัก หรือความตายของเราเองด้วยแล้ว แทบไม่อยากคิดถึงเลย
แต่ไม่ว่าอย่างไรความตายต้องเกิดกับเราและคนที่เรารักแน่นอน
เมื่อจำเป็นต้องพูดถึง คิดถึงความตาย เชื่อว่าทุกคนจะมีคำตอบเหมือนๆ กันว่า ถ้าจะตาย ก็ขอให้ “ตายดี”
แต่ “ตายดี” ของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน หลายคนคิดว่าถ้าได้หลับแล้วตายไปเลยโดยไม่เจ็บปวดทุกข์ทรมานถือเป็นการตายดี บ้างก็ว่าต้องตายท่ามกลางคนที่เรารัก ตายเมื่อทำงานใหญ่สำเร็จ ตายเมื่อภาระทั้งหลายถูกจัดการลงตัว หรือตายแบบไม่น่ากลัวศพยังสวยเหมือนยามมีชีวิต ฯลฯ
แต่กระนั้นเราต่างรู้ดีว่า การตายดีมิใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ เพราะเราไม่รู้ว่าความตายจะคืบคลานเข้ามาเมื่อไหร่ ในลักษณะใด หรือสถานการณ์แบบไหน
แต่ที่แน่ๆ ถ้าได้เตรียมตัว จัดการปัจจัยแวดล้อมในส่วนที่เราทำได้ไว้ให้พร้อม ย่อมมีโอกาสตายดีดังหวังมากกว่าไม่ได้เตรียมอะไรไว้แน่อน
การ “อยู่ง่าย” เป็นเครื่องหมายสำคัญอย่างหนึ่งของการ “ตายดี” การทำชีวิตให้ง่าย โปร่ง สบาย จึงเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อการตายดีอย่างหนึ่ง
การอยู่ง่าย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับตำแหน่ง ฐานะ ความรู้ หรือต้องอยู่แบบติดดิน กินอาหารพื้นบ้าน ทำงานสโลว์ไลฟ์เท่านั้น แต่เป็นการอยู่อย่างรู้เท่าทันธรรมชาติและสิ่งสมมติ วางท่าทีต่อสิ่งที่เข้ามาในชีวิตถูกต้อง ทำให้มีทุกข์น้อย สุขงาย ปล่อยวางและผ่อนคลายเมื่อความตายใกล้มาถึง
วิถีชีวิตพระ เป็นตัวอย่างของชีวิตที่มีอิสระ ภาระน้อย คอยพัฒนาปัญญาให้รู้เท่าทันความเป็นจริงของสรรพสิ่งอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นชีวิตที่เตรียมความพร้อมเพื่อการตายดีในที่สุด
แต่ทุกวันนี้เราหาพระที่ตายดีได้ยาก ยามเจ็บป่วยก็ลำบากไม่มีการดูแลกัน แน่นอนว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะพระ/คณะสงฆ์ ดำรงชีวิตเหินห่างจากที่พระธรรมวินัยวางไว้มาก ผนวกเข้ากับแรงดึงดูดจากความรู้ เทคโนโลยี และวิถีชีวิตอันหวือหวาในสังคมยุคใหม่ ทำให้พระ-เณรหลงใหลติดใจ จน “อยู่ยาก ตายลำบาก” กันมากขึ้น
เราชาวพุทธ ไม่ว่าพระหรือโยมควรต้องมีเวลากลับมาทบทวนชีวิตกันเนืองๆ ว่า เรายัง “อยู่ง่าย” กันหรือไม่ พร้อมเพียงใดกับการ “ตายดี”