สัปดาห์ก่อนสันติภาวันมีโอกาสต้อนรับพระอาจารย์รูปหนึ่งจากระยอง ท่านมาพร้อมศิษย์ ๓ คน เพื่อเยี่ยมชมสถานที่และการทำงานของพวกเรา ท่านว่าอยากมาให้กำลังใจสนับสนุนการทำงานของพวกเราที่นี่ แต่ออกตัวว่าท่านเองไม่ค่อยถนัดงานแบบนี้นัก
พระอาจารย์รูปนี้ท่านสนใจกิจกรรมพุทธศาสนาที่เชื่อมโยงกับสังคม ผู้เขียนเคยพบท่านครั้งแรกเมื่อเกือบสิบปีก่อน ในคอร์สปฏิบัติธรรมสั้นๆ และมีโอกาสพบกันอีกไม่กี่ครั้งในงานกิจกรรมทางพุทธศาสนาที่กรุงเทพฯ ล่าสุดท่านได้ทักเข้ามาทางหน้าเพจบอกว่าถ้ามีโอกาสจะแวะมาเยี่ยม เพราะว่าอยู่ไม่ไกลกันนัก
หนึ่งสัปดาห์ผ่านไปพอดี ศิษย์ที่ติดตามท่านมาวันนั้นได้โทรศัพท์มาแจ้งว่า ท่านอาจารย์อาพาธด้วยเส้นเลือดในสมองตีบ โรคเดียวกับหลวงพ่อมานิตที่เราดูแลอยู่ แต่ที่แย่คือไม่มีใครรู้ว่าท่านป่วยนอนอยู่ในรูปเดียวในกุฏิถึง ๓ วัน จึงมีพระไปพบนำส่งโรงพยาบาล การเริ่มรักษาช้าทำให้โอกาสฟื้นตัวยากขึ้น แม้ขณะนี้จะพ้นขีดอันตรายแล้ว ญาติได้นำท่านไปรักษาต่อที่กรุงเทพฯ แต่ทำให้ต้องมองต่อไปว่าท่านจะอยู่ต่อไปอย่างไรในอนาคต
ยังเป็นบุญที่ท่านยังพอสื่อสารได้ เราจึงให้แนะไปว่า หากสถานการณ์ต่างๆ คลี่คลายลง ท่านสบายใจที่จะพูดคุยแล้ว ค่อยหาโอกาสฟังความเห็นท่าน ควรให้ท่านเป็นผู้เลือกเองว่าอยากจะพักฟื้นที่ไหน หรืออยู่ที่ใดในระยะยาว โดยทั่วไปพระอาพาธก็ไม่ต่างกับโยมนักคืออยากกลับบ้าน พระก็อยากกลับไปอยู่วัดเดิมที่คุ้นเคย พักในกุฏิที่เคยอยู่ มีผู้คนที่รู้จัก แต่หากที่วัดติดขัด หรือท่านอยากอยู่ที่อื่นค่อยว่ากันอีกที
เรื่องนี้สะท้อนได้อย่างชัดเจนว่าสุขภาพคนเรานั้นบอบบางมาก พระอาจารย์ท่านนี้อายุน่าจะประมาณ ๕๐ ต้นๆ เมื่อพบกันสัปดาห์ก่อนท่านยังแข็งแรงคล่องแคล่วมาก แต่กลับกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงในชั่วพริบตา ทำให้ได้มองย้อนกับมาที่ตัวเองว่าไม่รู้เมื่อไหร่จะเป็นคราวของเรา
ด้วยวิถีชีวิตพระที่ไม่ค่อยหวือหวาโลดโผนนัก พระจึงมักชะล่าใจต่อโอกาสที่จะเจ็บป่วยหนักหรือเกิดอุบัติเหตุรุนแรงจนทำให้กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง บ้างก็มั่นใจว่าแม้เกิดเป็นขึ้นมา จะมีศิษย์หรือญาติโยมคอยดูแล มั่นใจว่ามีปัจจัย มีประกันชีวิต/ประกันสุขภาพไว้มั่นคงแล้ว หรือหวังว่าเงินกองทุนสงฆ์อาพาธที่เป็นสมาชิกมานานน่าจะเพียงพอให้ดำรงชีพอยู่ได้เรื่อยๆ
แต่จากประสบการณ์ที่มีโอกาสได้เยี่ยมพระอาพาธอยู่เป็นระยะๆ รวมทั้งจากผู้ที่ติดต่อขอคำปรึกษาเข้ามา พบว่าที่พึ่งพิงเหล่านั้นจะหวังในความมั่นคงได้ไม่ง่ายเลย โดยเฉพาะเมื่ออาพาธติดเตียงจนต้องมีคนอื่นช่วยทำกิจทุกอย่าง แม้พระผู้ใหญ่มีตำแหน่งบริหาร หรือครูบาอาจารย์ดังๆ ที่ช่วงแรกศิษย์แย่งตัวกันรับไปดูแล แต่นานปีเข้ากลับไม่มีใครอยากรับ บ้างก็ถูกทิ้งให้อยู่ที่กุฏิหลังวัดตามลำพัง บ้างถูกนำไปฝากไว้ที่ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งท้ายที่สุดก็ไม่มีแม้เงินที่จะจ่ายค่าดูแลของศูนย์ ต้องให้หน่วยงานสงเคราะห์มารับไปดูแลต่อ
เนื่องจากพระเป็นผู้ออกจากเรือนไม่ได้อยู่ในระบบครอบครัว การเตรียมความพร้อมเรื่องนี้จึงไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัวที่มีประกันชีวิตหรือมีเงินก็แก้ปัญหาได้ เมื่ออาพาธจนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เงินอาจกลายเป็นไปภัยร้ายที่สร้างความวุ่นวายซ้ำเติมความเจ็บป่วยทางกายได้ไม่ยาก กัลยาณมิตรและระบบรองรับที่ดีเท่านั้น ที่จะสร้างความมั่นใจ ให้ชีวิตในช่วงท้ายของพระมีความมั่นคง
ถ้าพระ วัด คณะสงฆ์ และพุทธบริษัทที่ช่วยอุ้มชูพระศาสนา ยังไม่ให้ค่า ไม่สละเวลาเตรียมระบบรองรับนี้ไว้ให้พร้อมตั้งแต่บัดนี้ พระเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าพรุ่งนี้หรือในอนาคตอันใกล้ เราจะไม่ใช่คนไข้ติดเตียงที่นอนรอเร่งให้พญามัจจุราชมารับตัวไปโดยเร็ว… ส่วนโยมก็อาจต้องปวดใจปล่อยให้พระที่เราเคารพศรัทธาต้องสึกหาลาเพศไปให้ญาติดูแลอยู่ที่บ้าน เพราะลำพังตัวเราคนเดียวก็ไม่รู้จะช่วยท่านอย่างไร
ใครพอจะเริ่มทำอะไรเพื่อภิกษุอาพาธระยะท้ายได้ ควรเร่งลงมือกันทันที ปัญหานี้ใหญ่หลวงยิ่งนัก