กำลังใจสำคัญในการทำงานของพวกเราที่นี่อย่างหนึ่งคือ การมีญาติโยมคอยห่วงใยไถ่ถาม ให้ความช่วยเหลือในลักษณะต่างๆ ตลอดมา คำถามที่เราถูกถามบ่อยมาก คือ สันติภาวันยังขาดแคลนอะไรบ้าง และคำตอบทีเล่นทีจริงที่เรามักตอบไปคือ “ขาดพระเณรที่จะมาช่วยดูแลพระอาพาธ” ซึ่งแน่นอนว่าญาติโยมคงไม่รู้ว่าจะช่วยได้อย่างไร

ปัญหาการขาดพระอุปัฏฐากไม่ใช่เรื่องที่เกินความคาดหวังของเรานัก ใครๆ ก็รู้ว่าการดูแลผู้ป่วยติดเตียง/ผู้ป่วยระยะท้ายไม่ใช่เรื่องสนุก ขนาดลูกเมื่อต้องดูแลพ่อแม่ที่ตนรัก ก็ยังรู้สึกเหนื่อยล้าเบื่อหน่ายกับกิจที่ต้องทำ แต่นี่ต้องดูแลใครที่ไม่รู้จักกันมาก่อนเลย ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายแน่นอน

มีพระจำนวนไม่น้อยที่ชื่นชมหรือส่งกำลังใจผ่านมายังพวกเรา ที่แวะเวียนเข้ามาเยือนถึงถิ่นก็มี แต่เมื่อเอ่ยปากชวนมาอยู่ช่วยกัน หรือชวนท่านจัดพื้นที่ดูแลพระอาพาธขึ้นที่วัดท่านเองบ้าง คำตอบมักออกมาในทำนองที่ว่า “ผมไม่ค่อยถนัดงานนี้” 

พระบางรูปคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่จะไม่ดูแลพระอาพาธ เพราะมีพุทธพจน์ระบุชัดว่า พระที่เหมาะจะดูแลภิกษุไข้นั้นต้องมีคุณสมบัติ ๕ ประการ คือ รู้จักยา รู้จักของแสลง มีจิตเมตตาไม่หวังสิ่งตอบแทน ไม่รังเกียจสิ่งปฏิกูล และพูดคุยธรรมะที่เหมาะสมกับผู้ป่วยได้ ในเมื่อตนเองมีคุณสมบัติไม่ครบดังที่ว่า จึงไม่ควรเข้าไปดูแล

หากพระพุทธองค์ทรงมีเจตนาจะยกเว้นให้ผู้ที่ไม่ถนัดไม่ต้องดูแลพระอาพาธได้ คงไม่ปรับอาบัติต่อพระทุกรูปในวัด หากไม่มีใครดูแลพระอาพาธเลย (จะอ้างว่าไม่ถนัด จึงไม่อาบัติ ไม่ได้)

ยิ่งทุกวันนี้เรามีตัวช่วยมากมายที่ทำให้การดูแลผู้ป่วยง่ายขึ้น ทั้งถุงมือ หน้ากาก ผ้าอ้อม อุปกรณ์ที่ใช้แล้วทิ้ง ไม่ต้องซักหรือต้มให้ยุ่งยากเหมือนเมื่อก่อน ยาที่ใช้ก็ไม่ต้องเสาะหาเสียเวลาต้มหรือบด ของแสลงโรงพยาบาลก็ให้ข้อมูลมาพร้อม ส่วนธรรมะสำหรับผู้ป่วยก็มีมากมายในเว็บ ทำให้ข้ออ้างว่ารังเกียจหรือไม่ถนัดงานนี้มีน้ำหนักแผ่วลงมาก

จนอาจกล่าวได้ว่าทุกวันนี้ พระซึ่งมีจิตกรุณาเป็นฐานอยู่แล้ว สามารถให้การช่วยเหลือดูแลพระอาพาธติดเตียงได้ไม่ยาก ยิ่งถ้าวัดมีระบบหนุนให้ทำงานนี้ได้คล่องตัว ไม่สร้างภาระแก่ผู้ดูแล ทั้งค่าใช้จ่าย รถราเมื่อต้องพาไปโรงพยาบาล ถ้าจัดเวรช่วยกันดูแลได้ก็จะยิ่งทำให้งานง่ายขึ้น 

ปัญหาการขาดผู้อุปัฏฐากพระอาพาธติดเตียง จึงไม่ได้อยู่ที่ความน่าเบื่อน่ารังเกียจของงานเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของทัศนะคติ เรื่องของระบบ และขาดบรรยากาศที่เอื้อต่อการทำงานด้วย

หากหมู่สงฆ์เปลี่ยนท่าทีว่าการดูแลพระอาพาธมิใช่บทบาทของญาติพี่น้อง แต่พระธรรมวินัยกำหนดให้เป็นหน้าที่ของหมู่ภิกษุในวัดนั้น แล้วเจ้าอาวาสสร้างระบบดีๆ ขึ้นในวัด ญาติโยมจัดอำนวยความสะดวก สนับสนุนสิ่งของจำเป็น ปัญหาในขาดผู้ดูแลพระอาพาธติดเตียงในวัดคงบรรเทาลงได้มาก

วัดดีมิได้อยู่ที่ความโอ่อ่างดงามของ โบสถ์ วิหาร ลานเจดีย์เท่านั้น แต่อยู่ที่พระท่านปฏิบัติดี มีความสามัคคี และไมตรีของหมู่สงฆ์ในอารามนั้นด้วย 

แน่นอนว่าพวกเราชาวพุทธทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วมช่วยกันสร้างขึ้น