ในจำนวนพระอาพาธทั้งหมด ๒๐ รูป ที่สันติภาวันดูแลมา มีถึง ๑ ใน ๔ ที่เป็นพระสังฆาธิการ หรือผู้บริหารของคณะสงฆ์ โดย ๒ รูป เป็นอดีตเจ้าอาวาส, ๑ รูป เป็นรักษาการเจ้าอาวาส และอีก ๒ รูป เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส ไม่นับท่านที่เคยเป็นอยู่ช่วงสั้นๆ แล้วขอลาออก
ฟังดูอาจเป็นเรื่องค่อนข้างแปลก ที่ตัวเป็นเจ้าอาวาส แต่กลับขาดที่พักพิงในช่วงท้ายของชีวิต
ผู้ที่ติดต่อส่งพระเหล่านี้มาส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลที่ท่านรักษาตัวอยู่เป็นเวลานาน เมื่อการรักษาสิ้นสุดก็จำเป็นต้องให้ออกจากโรงพยาบาล แต่พบว่าไม่มีที่ใดยินดีรับท่าน จะมีบ้างที่ญาติเป็นผู้ติดต่อส่งมา เนื่องจากพบว่าท่านถูกทอดทิ้งไม่ได้รับการดูแลอยู่ในวัด (ท่านไม่ต้องการอยู่บ้านโยม)
เมื่อเจ็บป่วยอยู่นาน ทำงานไม่ได้ ร่างกายจิตใจไม่สมบูรณ์ดังเดิม พระเหล่านี้มักถูกปลดออกจากตำแหน่ง แล้วแต่งตั้งผู้อื่นขึ้นมาทำหน้าที่แทน ท่านจึงหมดทั้งสมรรถภาพและสถานภาพที่มีอำนาจลง แม้บารมีคุณความดีอาจยังมีอยู่บ้าง แต่ระยะเวลาป่วยติดเตียงที่ทอดนานไป ความใส่ใจในการดูแลก็ลดลง จนในที่สุดแทบไม่ต่างจากการถูกทอดทิ้งนัก
ไม่เฉพาะเจ้าอาวาสเท่านั้น ในวงการพระด้วยกันทราบดีว่า แม้พระเปรียญ ๙ หรือพระระดับเจ้าคุณที่สังขารโรยราอาพาธ ก็ถูกทิ้งอยู่ในกุฏิไร้ผู้ดูแล มรณภาพไปอย่างเดียวดายหลายรูป
อดีตรักษาการเจ้าอาวาสรูปหนึ่งที่เราเคยดูแล ท่านบอกว่าไม่เคยคิดเลยว่าแผลที่เท้าจุดเดียว จะทำให้ต้องออกจากวัด และไม่มีโอกาสได้กลับไปอีกเลย เพราะหลังจากรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลถึง ๘ เดือน ก็มีแผลกดทับขนาดใหญ่ ถูกตัดขา กลายเป็นคนพิการ จนถูกส่งให้มาอยู่ที่สันติภาวัน และมรณภาพที่นี่ในที่สุด
หลายคนอาจพุ่งเป้าไปที่พฤติกรรมยามที่ท่านเป็นผู้ปกครองวัด ว่าคงไม่ได้ทำให้พระในวัดเคารพศรัทธานัก ซึ่งอาจเป็นความจริงอยู่บ้าง แต่ในยุคที่คนรักอิสระ ต้องการพื้นที่ส่วนตัวมากขึ้น หากวัดไม่มีระบบที่ชัดเจนในเรื่องนี้ และพระมิได้เตรียมความพร้อมสำหรับชีวิตปั้นปลายของตนเอาไว้ แม้เป็นเจ้าอาวาสที่ดีก็มีโอกาสถูกทอดทิ้งได้ไม่ยาก
แม้กระนั้น ทุกวันนี้เจ้าอาวาสหรือผู้ปกครองคณะสงฆ์ส่วนใหญ่ก็มิได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้
ทางวัดมักถือว่าสุขภาพเป็นเรื่องส่วนตัวที่พระแต่ละรูปต้องรับผิดชอบตนเอง ทั้งยังมีทัศนะว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่จะปฏิเสธกับโรงพยาบาลว่าไม่สะดวกที่จะรับพระในวัดกลับมาดูแลต่อ พร้อมที่จะตามญาติให้มารับพระอาพาธกลับไปดูแลที่บ้าน หลายวัดมีนโยบายชัดเจนว่าไม่รับพระป่วย/พิการเข้ามาอาศัยในวัด หรือกระทั่งมีคำสั่งให้พระชราเตรียมหาที่อยู่/หาคนดูแลไว้หากช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
ผู้ปกครองวัดเหล่านี้อาจลืมไปว่ากำลังสร้างมาตรฐานการปฏิบัติต่อพระอาพาธให้พระและญาติโยมของวัดได้เห็น เมื่อตัวท่านเองเจ็บป่วยติดเตียงขึ้นมา จึงโทษใครไม่ได้หากไม่มีคนดูแล
เจ้าอาวาสจำนวนไม่น้อยฝากความหวังไว้กับกองทุนฌาปนกิจ ที่ช่วยให้มั่นใจว่ามีเงินไว้จัดงานศพ และกองทุนสุขภาพคณะสงฆ์ ที่จะช่วยเหลือค่ารักษายามอาพาธ และมีเงินให้รายวันถ้าต้องเป็นผู้ป่วยใน แต่กระนั้นก็มีเพดานค่าใช้จ่ายและจำกัดจำนวนวันนอนโรงพยาบาลไว้ชัดเจน หากต้องนอนติดเตียงระยะยาวแล้ว การช่วยเหลือของกองทุนเหล่านี้ย่อมไม่ครอบคลุม
อดีตเจ้าอาวาสรูปหนึ่งที่เราเคยดูแล ในยามอาพาธจนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ไม่มีใครดูแลท่านเลย จน อสม. ต้องหาช่องทางประสานงานเพื่อส่งท่านให้มาอยู่กับเรา เมื่อทางวัดทราบว่าอาการท่านทรุดลง ได้ติดต่อแจ้งมาว่าหากท่านมรณภาพจะขอรับศพท่านไปจัดการเอง เพราะท่านมีเงินกองทุนฌาปนกิจอยู่ และต้องจัดงานให้สมเกียรติของอดีตเจ้าอาวาส
แม้การจัดงานศพใหญ่ๆ จะไม่ง่าย การเชิดชูเกียรติผู้ตายเป็นเรื่องดี แต่ในเชิงคุณค่าและเนื้อหาตามธรรมวินัยแล้ว เทียบไม่ได้เลยกับการดูแลกันยามอาพาธ
หากเรายังให้ความสำคัญกับงานศพ ไม่เคารพธรรมวินัยที่พระพุทธองค์ฝากฝังไว้ พยาธิภัยและมรณภัยย่อมเป็นดุจไฟที่จะสุมไหม้อยู่ภายในหมู่สงฆ์ คงไว้เพียงเปลือกนอกที่ยังพอดูได้ แต่เมื่อถูกกระทบจากแรงภายนอกคราใด ก็พร้อมที่จะกลายเป็นเถ้าในพริบตา
เรามาช่วยกันเปลี่ยนไฟนี้ให้มีประโยชน์ ใช้เป็นเครื่องหนุนเราให้เข้าใจธรรม เสริมความเกร่งภายในให้หมู่สงฆ์ ผ่านการอุทิศตนอุปัฏฐากภิษุไข้ ก่อนที่จะไม่เหลือพระรูปใดให้ดูแล