หลายคนเห็นว่าพุทธศาสนาสอนให้ยอมจำนนต่อการเจ็บป่วยและความตาย ควรให้ชีวิตเป็นไปตามกรรม ไม่จำเป็นต้องขวนขวาย วิ่งหนีความตาย หรือเตรียมตัวก่อนเวลานั้นมาถึง
ยิ่งเป็นพระที่ศึกษาปฏิบัติมามากด้วยแล้ว ชาวพุทธบางส่วนคาดหวังว่า ท่านควรปล่อยวางละความยึดมั่นในกายได้ดีกว่าชาวบ้านทั่วไป เมื่อเห็นพระเข้ารับการรักษาโรคที่ซับซ้อน จึงรู้สึกตำหนิอยู่ลึกๆ ว่า ทำไมท่านไม่รู้จักปล่อยวาง
แท้จริงแล้ว พุทธศาสนามุ่งพัฒนาให้ชีวิตอยู่เหนือกรรม ไม่เคยสอนให้สิ้นหวัง ท้อแท้ ยอมจำนนต่อโรคภัย กรรมเก่า หรือแม้แต่ความตาย
พุทธศาสนาให้ความสำคัญต่อสุขภาพและชีวิตมนุษย์มาก เมื่อป่วยต้องใส่ใจดูแลให้หาย ยิ่งใกล้ตายยิ่งต้องใช้เวลาให้เกิดประโยชน์สูงสุด
พระพุทธองค์ทรงยกเว้นสิกขาบทนับร้อยข้อ ให้พระอาพาธทำได้โดยไม่อาบัติ (เช่น สามารถส่องกระจกดูแผล ใช้กรรไกรตัดผมเพื่อทายา หรือขออาหาร/ยาที่เหมาะแก่พระอาพาธจากโยมได้) ทั้งนี้เพื่อลดทุกข์เวทนา และรักษาโรคได้ง่ายขึ้น ทั้งยังกำชับให้หมู่สงฆ์ช่วยกันดูแลพระอาพาธอีกด้วย
ยังไม่รวมถึงทรงแนะนำให้ภิกษุดำรงชีวิตอย่างเกื้อกูลต่อสุขภาพ ทั้งการขบฉัน พักผ่อน บริหารกาย รักษาความสะอาด รู้จักสร้างและใช้ส้วมอย่างเหมาะสม รวมถึงให้หายามาใช้ ตามหมอมารักษาเมื่อเวลาเจ็บป่วย
แต่ก็มิใช่ให้วิ่งวุ่นรักษาตัวแบบไร้ขีดจำกัด หากการรักษานั้นเบียดเบียนตน (เสี่ยงอันตราย) ทำให้ชีวิตอื่นเดือนร้อน หรือกระทบต่อศรัทธาที่มีต่อหมู่สงฆ์ พระองค์ก็จะไม่ทรงมีพุทธานุญาตให้ทำ
ตัวอย่างเช่น ถ้ายานั้นผสมเหล้า ต้องเจือจางให้หมดกลิ่นรสของเหล้าก่อนจึงฉันได้ การผ่าตัดรักษาริดสีดวงทวาร (ซึ่งยุคนั้นเสี่ยงอันตรายมาก) ทรงห้ามทำ การฆ่าสัตว์เบียดเบียนชีวิตอื่นมาทำยาก็ไม่ทรงอนุญาต
พร้อมๆ กับการรักษาโรคทางกาย ทรงแนะนำให้ใช้ทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น มาเป็นเครื่องสอนธรรม กระตุ้นความเพียร และใช้ปัญญาพิจารณาความเจ็บป่วยนั้นให้เห็นความจริง
แม้แต่ในภาวะที่โรคลุกลามคุกคามชีวิต ยังมองว่าเป็นโอกาสที่หาได้ยากในการพัฒนาจิต เป็นภาวะที่ต้องดำรงชีวิตด้วยสติ ใช้ปัญญาอย่างยิ่งยวด จนมีพระอรหันต์ไม่น้อยที่บรรลุธรรมในขณะจิตสุดท้ายของชีวิต
ตามหลักพุทธ แทนที่จะทอดทิ้งกลับยิ่งต้องดูแลรักษากายนี้ให้ดี เพราะร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงนั้นเอื้อต่อการสร้างประโยชน์ทางโลกและพัฒนาทางธรรมมากกว่ากายที่ป่วยไข้
แต่หากทำเต็มที่ พิจารณาดีแล้วว่าแทบไม่มีโอกาสดีขึ้น จึงค่อยปล่อยวางเรื่องกายแล้วใส่ใจจิตให้เข้มข้นขึ้น
การจะทำเช่นนั้นในสังคมปัจจุบันอาจไม่ใช่เรื่องง่าย จำนวนมากรักษาไปจนสิ้นลมที่โรงพยาบาล หากได้กลับบ้านก็มีปัญหาใครจะมาดูแลอย่างต่อเนื่อง แม้แต่บ้านที่ตนเองสร้าง ก็ยังมั่นใจไม่ได้ว่าจะพักพิงต่อไปหรือไม่
ทุกวันนี้มีวัด-สถานปฏิบัติเกิดขึ้นมากมาย แต่มักไม่พร้อมรับคนพิการหรือผู้ป่วยที่ต้องพึ่งพิงผู้อื่น
เราทุกคนต่างทุ่มเทกายใจเพื่อหาความสุขความมั่นคงให้ชีวิต แต่สำหรับช่วงเวลาวิกฤตที่ต้องฝากชีวิตไว้กับผู้อื่น เราเตรียมความพร้อมสำหรับจุดนั้นไว้เพียงใด
ยิ่งสำหรับพระคุณเจ้าด้วยแล้ว สิ่งที่ท่านปฏิบัติศึกษาพัฒนามาตลอดชีวิต อาจหมดความหมายไปอย่างสิ้นเชิง หากไม่เตรียมความมั่นคงในชีวิตช่วงสุดท้ายไว้อย่างดีพอ
ความมั่นใจว่าเราจะได้ใช้เวลายามที่กายอ่อนล้ามามุ่งพัฒนาจิต มีกัลยาณมิตรอยู่ใกล้ๆ ได้ปฏิบัติธรรมอย่างสงบเหล่านี้ คงไม่ได้มาด้วยความหวัง แต่ต้องอาศัยพลัง ร่วมกันคิด ช่วยกันพัฒนาก่อนที่เวลานั้นจะมาถึง ว่าแต่ตอนนี้เรามีกำลัง เหลือเวลา และพร้อมเพียงใดในการเตรียมสถานที่เช่นนี้สำหรับตน