อาหารอันเป็นพื้นฐานของทุกชีวิต แต่ด้วยสติปัญญาอันปราดเปรื่องของมนุษย์ เราได้พัฒนาอาหารและการกินให้มีความประณีตซับซ้อนขึ้นจนเป็นวัฒนธรรม ทำให้อาหารและการกินกลายเป็นเครื่องแสดงอัตลักษณ์ เป็นสินค้าสนองอัตตา มิใช่มาหล่อเลี้ยงร่างกายเท่านั้น
พุทธศาสนาเห็นปัญหาที่เกิดจากการบริโภคอาหารอย่างไม่เหมาะสม ไม่พอดี จึงมีหลักธรรมย้ำเตือนให้เราใช้สติปัญญาพิจารณาอาหารก่อนบริโภค ให้รู้จักประมาณในการกิน และรู้จักแบ่งปันอาหารให้ผู้ที่มีน้อยกว่า
สำหรับพระซึ่งเลี้ยงชีวิตด้วยการขออาหารจากผู้อื่น ท่านยิ่งให้ระมัดระวังมากขึ้น มีพระวินัยมากมายที่เกี่ยวข้องกับการขบฉัน เฉพาะในส่วนมารยาทในการขบฉันในเสขิยวัตรก็มีถึง ๓๐ ข้อ ยังไม่รวมข้อหลักๆ ที่มาในพระปาติโมกข์ เช่น การห้ามฉันในเวลาวิกาล ห้ามฉันของที่ไม่ได้รับประเคน ฯลฯ และที่มานอกพระปาติโมกข์ เช่น ไม่ให้ฉันเนื้อบางชนิด ไม่ให้ฉันอาหารดิบ ฯลฯ รวมแล้วอาจมีนับร้อยข้อทีเดียว
มีญาติโยมหลายท่านที่ห่วงใยอยากทราบว่าสันติภาวันจัดภัตตาหารถวายพระอาพาธอย่างไร มีโรงครัวทำอาหารเองไหม หรือถ้าจะส่งข้าวสารอาหารแห้งมาถวายพระอาพาธจะทำอย่างไร เป็นต้น
เนื่องจากสันติภาวันเราดูแลกันโดยพระ อาหารแทบทั้งหมดจึงได้จากการบิณฑบาต ซึ่งชาวสอยดาวมีศรัทธาใส่ให้ทุกวัน พระบิณฑบาตเพียง ๒-๓ รูป ก็พอที่จะแบ่งปันให้พระอาพาธอีก ๕ รูปได้ฉันกันทั่วถึง ครัวเล็กๆ ของเรามีโยมช่วยต้มข้าว เจียวไข่ เสริมเพิ่มขึ้นบ้างตามโอกาส การส่งข้าวสารอาหารแห้งมาถวายพระอาพาธจึงไม่จำเป็นนัก
อาหารบิณฑบาตที่ได้มาถูกจัดขึ้นโต๊ะครั้งเดียวในตอนเช้า เราจะพิจารณาอาหารที่เหมาะสมจัดถวายพระอาพาธที่ฉันเองได้ก่อน ส่วนที่ต้องป้อนหรือต้องปั่นให้ทางสายยางจะถวายหลังจากพระผู้ดูแลฉันแล้ว
อาหารในช่วงเช้าจะเก็บไว้อุ่นให้ท่านฉันในมื้อเพลด้วย ส่วนตอนเย็นจะเป็นเครื่องดื่ม ซึ่งแตกต่างกันบ้างตามสภาพร่างกาย ความชอบ และความเคร่งครัดในการรักษาวินัยของแต่ละรูป (มีพุทธานุญาตให้พระอาพาธฉันอาหาร คือ น้ำต้มเนื้อ น้ำต้มถั่ว และน้ำข้าว ยามวิกาลได้, พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ ข้อ ๔๔)
อาหารที่ถวายถูกจัดง่ายๆ รวมอยู่ในจานเดียว เน้นคุณค่าทางอาหาร ความสะอาด และหลากหลาย เมื่อดูแลกันได้ระยะหนึ่งเราพอจะรู้ว่าแต่ละท่านชอบหรือไม่ชอบอะไร ก็พยายามจัดให้เท่าที่จะทำได้ และคอยย้ำเตือนท่านเนืองๆ ว่า เป็นอาหารที่โยมใส่บาตรมาด้วยความศรัทธา ฉันแล้วก็ขอให้ท่านอธิษฐานจิตให้พรโยมด้วย
การจัดภัตตาหารให้พระอาพาธรูปแล้วรูปเล่า รูปเก่าจากไปรูปใหม่เข้ามา แม้จะเป็นเรื่องน่าเบื่อ แต่ก็เป็นงานที่มีคุณค่า และสำคัญต่อการดำรงชีวิต ไม่ต่างจากที่เราต้องกินอาหารบำรุงเลี้ยงร่ายกายตนเอง แต่หากเราเข้าใจมอง รู้จักน้อมมาพิจารณา เรื่องพื้นฐานเหล่านี้ก็มีคุณค่าสร้างสีสันและเกื้อหนุนทางธรรมได้ไม่น้อย
ตั้งแต่พฤติกรรมการขบฉันที่ต่างกันของแต่ละท่าน บางรูปชอบฉันข้าวกับมะม่วงสุก บางรูปไม่ฉันเงาะ บางรูปไม่ฉันหมูแต่ฉันกุนเชียง บางรูปก็ไม่ฉันอาหารแปลก แม้แต่สุกี้ สปาเก็ตตี้ก็ไม่ฉัน เพียงเพราะ “ไม่เคยฉัน” มาก่อน บางรูปเมื่ออาการแย่ลง ท่านบอกว่าร่างกายจะบอกเองว่าฉันอะไรได้ แม้ของที่อยากฉัน ถ้าฉันเข้าไปร่างกายไม่รับก็จะอาเจียนออกมา ต้องใช้วิธีเตรียมมาวางไว้ให้ท่านค่อยๆ เลือกชิมดู
เรื่องที่น่าตื่นเต้นกว่านั้นคือพระบางรูปท่านเหมือนมีวาจาศักดิ์สิทธิ์ เมื่อบอกว่าอยากฉันอะไร อีกไม่กี่วันก็มีโยมใส่บาตรมาให้ ทั้งๆ ที่ของนั้นหาได้ไม่ง่าย ไม่มีทำขายเป็นปกติ เช่น ท่านอยากฉันลูกเดือยต้ม ขนมปลากริมไข่เต่า หรือก๋วยเตี๋ยวหลอด อยู่ๆ ก็มีคนใส่บาตรมา หรือแม่ค้าทำขายพอดี
บางเรื่องเหมือนจะขำแต่ความจริงนั้นน่าสงสาร เช่น ท่านลืมว่าได้ฉันเพลไปแล้ว หลงเวลา ดุพวกเราว่าเที่ยงแล้วทำไมไม่นำอาหารเพลมาให้ฉัน ทั้งๆ ที่ตอนนั้นได้เวลาฉันยามื้อค่ำแล้ว บ้างก็ร้อง หิวๆๆ กลางดึก จนต้องลงมาหาอะไรให้ท่านได้รองท้องพอให้หลับไปได้
ส่วนท่านที่มีอาการทางสมองจนสับสน เมื่อท่านคิดว่าฉันอะไรอยู่เราก็ต้องเออออตามไปด้วย ไม่เถียงเอาผิดเอาถูกกับท่าน หรือยามท่านอยากฉันอะไรที่หามาให้ไม่ได้ ก็ต้องสมมติเอาว่าเป็นสิ่งที่ท่านอยากฉัน พอช่วยให้ท่านฉันได้ แต่ก็ต้องหลอกล่อกันเป็นชั่วโมงกว่าจะป้อนหมด
เรื่องกินที่ว่าง่ายเหมือน “ปอกกล้วยเข้าปาก” แต่เมื่อป่วยไข้ขึ้นมากลับไม่ง่ายอย่างเคย แสดงให้เห็นชัดถึงความไม่เที่ยง ความไม่แน่นอนของร่างกาย ทำให้เห็นถึงความเป็นสมมติของอาหาร ตั้งแต่ชื่อ ราคา ความหรูหรา หรือแม้แต่รสชาติ/ความอร่อย ที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยการโฆษณาและระบบตลาด จนเราต้องยอมจ่ายเงิน เสียเวลา และยังต้องยอมรับว่าอร่อย (เพราะได้ดาวจากแบรนด์ดัง-ถ้าไม่อร่อยเราผิดเพราะลิ้นไม่ถึง)
มองในมุมนี้ ความน่าเบื่อในการจัดอาหารให้พระอาพาธ ได้มาสอนให้พวกเราฉลาด รู้เท่าทันในการกินมากขึ้น