สำหรับพุทธศาสนาเวลาทองของชีวิต มักหมายถึงช่วงก่อนจิตสุดท้ายจะดับ หากมีผู้ดูแลที่เข้าใจ ช่วยจัดการร่างกายให้ผ่อนคลาย ทุกขเวทนาน้อย พร้อมกับน้อมนำจิตให้สงบ เป็นกุศล ก็จะช่วยให้ผู้ที่อยู่ในระยะท้ายของชีวิต มีโอกาสจากไปอย่างสงบ มีสุคติเป็นที่หมายได้มากขึ้น

แต่สำหรับผู้ป่วยที่ยังไม่ได้อยู่ในระยะท้ายจำนวนไม่น้อย ช่วงเวลาทองของพวกเขาคือ ๒-๓ เดือนหลังออกจากโรงพยาบาล เพราะหากขาดผู้ช่วยเหลือไม่ได้ฟื้นฟูร่างกายในช่วงนี้ อาจกลายเป็นผู้พิการ นอนติดเตียงไปชั่วชีวิต

แม้สันติภาวันจะเน้นการดูแลพระอาพาธระยะท้าย แต่ก็มีผู้ติดต่อขอให้ช่วยดูแลพระอาพาธกลุ่มนี้อยู่เรื่อยๆ ที่เรารับมาดูแลถือเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น แต่ก็ตระหนักว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ และลำบากใจทุกครั้งที่ปฏิเสธไม่รับดูแล

ข้อจำกัดสำคัญของพระกลุ่มนี้ คือท่านเข้ามาในช่วงเวลาทองเกือบหมดแล้ว ร่างกายจึงมีโอกาสฟื้นตัวได้ยาก กับอีกส่วนหนึ่งคือท่านมักขาดพลัง ไม่ขยัน ไม่มุ่งมั่นบริหารร่างกาย แม้จะยังอยู่ในช่วงเวลาทอง สภาพร่างกายไม่เสียหายมาก มีคน/อุปกรณ์พร้อมช่วยเหลือ แต่ร่างกายท่านก็ไม่สามารถฟื้นขึ้นมาได้

หลายครั้งเราจะพยายามดัดแปลง หาอุปกรณ์มาช่วยฟื้นฟู ติดต่อพาไปทำขาเทียม ชวนให้ฝึกเดินบ่อยๆ แต่ท่านกลับเฉื่อยชา เบื่อ ไม่อยากฝึกเดิน จนเราต้องเลิกรายอมแพ้ไปในที่สุด

ถึงกระนั้นก็ใช่ว่าเราควรจะละเลยพระกลุ่มนี้ เพราะพระที่ต้องการโอกาสฟื้นฟูร่างกายในแต่ละปีมีไม่น้อย และหากเลยช่วงเวลาทองจนพิการตลอดไป นอกจากสูญเสียพระที่จะช่วยงานศาสนาไปรูปหนึ่งแล้ว ยังสร้างภาระใหญ่ในการดูแลตามมาอีกด้วย

เราชาวพุทธควรต้องสนใจในเรื่องนี้ให้มากขึ้น สันติภาวันเองก็มีแผน และตั้งใจที่จะรับพระกลุ่มนี้มาฟื้นฟูดูแลอย่างจริงจังเช่นกัน เพียงแต่ต้องอาศัยเวลาจัดเตรียมพื้นที่ บุคลากร และอุปกรณ์อีกพอสมควร

แต่เพราะ “เวลาทอง” นั้นพลาดแล้วพลาดเลย หากท่านพิการถาวรไปแล้ว ก็หมดโอกาสฟื้นกลับคืนมาได้อีก

จึงอยากเชิญชวนชาวพุทธให้หันมาสนใจแก้ไขปัญหาในจุดนี้ ช่วยกันหาวิธี ช่วยกันตามกำลัง และลงมือทำกัน ณ ตอนนี้เลย