ใครที่เคยนอนเฝ้าไข้ย่อมรู้ดีว่าการดูแลผู้ป่วยนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ยิ่งถ้าเป็นผู้ป่วยระยะท้ายที่นอนติดเตียงอยู่ที่บ้านอย่างยาวนานด้วยแล้ว ต้องถือว่าเป็นภาระที่หนักมาก ผู้ดูแลต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจอดหลับอดนอน ทำแผล เอาใจใส่ดูแล สัมผัสสิ่งปฏิกูลของผู้ป่วยวันละหลายครั้ง หากผู้ป่วยดื้อ โวยวาย ไม่ให้ความร่วมมือ หรือเจ็บปวดทรมานด้วยแล้ว จะยิ่งเพิ่มความยากขึ้นหลายเท่าตัว
ส่วนกำลังใจนั้นก็ต้องใช้เต็มที่และต้องมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เพราะไม่ว่าจะดูแลดีเพียงใดวันคืนผ่านไปคนไข้ก็มีแต่ทรุดลงๆ และสิ้นลมในที่สุด ด้วยอาศัยพลังแห่งความรักและความผูกพันกตัญญูที่มีต่อกันเท่านั้น ที่ทำให้ผู้ดูแลสามารถฝ่าฟันสถานการณ์ที่หนักหน่วงนี้ไปได้
ดังนั้นถ้ามีใครมาชวนให้เป็นจิตอาสาดูแลผู้ป่วยระยะท้ายที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนแบบเต็มรูปแบบ สัก ๓ วัน ๗ วัน เราส่วนใหญ่คงปฏิเสธออกตัวว่าไม่มีเวลาเป็นแน่
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกนัก ที่สันติภาวันจะหาจิตอาสามาเป็นทีมผู้ดูแลพระอาพาธระยะท้ายได้ยาก เพราะเราต้องดูแลพระอาพาธระยะท้ายซึ่งไม่ใช่ญาติ ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน บางรูปที่มีพรรษามากเราก็กราบท่านด้วยความเคารพ กล่าวคำขอขมาเมื่อมีโอกาสเพราะอาจล่วงเกินท่านโดยไม่ตั้งใจ ดูแลร่างกายจิตใจท่านทุกอย่างจนกว่าจะมรณภาพ โดยไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ
สิ่งที่พระอาสาเรานำมาใช้ทดแทนพลังความรักความผูกพันระหว่างคนในครอบครัว หรือชดเชยรายได้ค่าตอบแทนของผู้ที่ทำหน้าที่ตามระบบ จนช่วยให้เราทำงานหนักนี้ได้อย่างไม่ทุกข์ใจ คือความศรัทธาและมั่นคงในการพัฒนาชีวิตจิตใจตามครรลองแห่งพุทธธรรม
ความศรัทธาที่มีต่อพระปัญญาและพระกรุณาของพระพุทธองค์ ทำให้เราไม่อาจละเลยสิ่งที่พระองค์ทรงฝากฝังสั่งหมู่สงฆ์เอาไว้ว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอไม่มีมารดาไม่มีบิดา ผู้ใดเล่าจะพึงพยาบาลพวกเธอ ถ้าพวกเธอจักไม่พยาบาลกันเอง ใครเล่าจักพยาบาล”
ในเมื่อทุกวันนี้ภาพปรากฏชัดว่ามีพระภิกษุอาพาธจนดูแลตัวเองไม่ได้จำนวนหนึ่งถูกทอดทิ้งไม่ได้รับการดูแล หากเราละเลยไม่ใส่ใจดูแลเรื่องนี้ จะกล่าวว่าได้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ดีแล้วก็คงลำบาก
อีกส่วนหนึ่งที่เป็นพลังให้เราทำงานนี้มาอย่างต่อเนื่องคือ เรามองว่าการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายสามารถใช้เป็นโอกาสในการปฏิบัติธรรมได้ และยังใช้เป็นเครื่องมือวัดความก้าวหน้าในธรรมได้ด้วย แค่ได้เห็นพระอาพาธนอนแสดงสัจธรรมอยู่เบื้องหน้าก็ช่วยเตือนให้หลายคนใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาทได้แล้ว หากได้เฝ้าอุปัฏฐากใกล้ชิด มีหลักคิดเมื่อดูแล ย่อมช่วยให้เราเข้าใจในธรรมชาติของชีวิตจิตใจชัดเจนขึ้นแน่นอน
ความเศร้าหมอง ความรังเกียจ รำคาญ หรืออกุศลจิตต่างๆ ที่เกิดขึ้นขณะดูแล เป็นเครื่องเตือนใจอย่างดีว่าเรายังมีกิเลสเหล่านี้อยู่ จะรักษาศีลบริสุทธิ์แค่ไหน จะทำสมาธิได้นิ่งเพียงใด อธิบายธรรมได้ลึกซึ้งอย่างไร แต่หากวางใจให้ปกติประกอบด้วยความกรุณาอย่างไม่มีประมาณขณะดูแลพระอาพาธไม่ได้ ก็แสดงว่าเรายังต้องพัฒนาละกิเลสในใจกันต่อไป
หลักปฏิบัติพื้นฐานของพวกเราที่นี่เมื่อจิตกระทบกับอารมณ์ที่ไม่น่าพึงพอใจขณะดูแลพระอาพาธ เช่น เมื่อได้ยินเสียงกระดิ่งเรียกยามดึก เห็นท่านถ่ายเปื้อนที่นอน หรือพบว่าท่านไม่ยอมฉันข้าว ฉันยา หรือว่าแอบสูบบุหรี่ คือพยายามมีสติรู้สึกตัวให้ไว
หากรู้สึกว่ามีความหงุดหงิด ความเบื่อ หรืออารมณ์อกุศลใดๆ เกิดขึ้น ก็แค่ยิ้มรับรู้ว่าเจ้ากิเลสพวกนี้โผล่มาแล้ว แล้วสำรวมวาจาเข้าไปช่วยเหลือ/ปฏิบัติต่อท่านด้วยสติปัญญา เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้เราได้เรียนรู้จิตใจมากขึ้น
ถ้าโชคดีอาจมีโจทย์ยากๆ เข้ามาทดสอบจิตใจแบบไม่คาดคิด ด้วยอาการฉุกเฉินต่างๆ เช่น ท่านมีไข้สูง ดิ้นโวยวาย หายใจติดขัด เลือดออกมาก ฯลฯ เพื่อทดสอบว่าที่เราคิดว่านิ่งได้ อภัยได้ ไม่ทุกข์ได้นั้น เป็นจริงแค่ไหน นี่คือโอกาสในการปฏิบัติธรรมที่หาได้ยากหากไม่ได้มาอุปัฏฐากพระอาพาธระยะท้ายอย่างใกล้ชิด
จึงอยากชวนทุกท่าน โดยเฉพาะพระคุณเจ้าลองหาโอกาสเข้าไปดูแลพระอาพาธที่อยู่ในวัดเดียวกันหรือวัดใกล้ๆ ด้วยใจกรุณา โดยตั้งใจให้อภัยต่อทุกความผิดพลาดที่พระอาพาธทำ ให้สมกับเป็นภารกิจที่พระศาสดาได้ฝากไว้ แรกๆ อาจติดขัดลำบากใจพ่ายแพ้กิเลสบ้างถือเป็นเรื่องธรรมดา แต่เมื่อเพียรทำต่อไป ย่อมพบความเปลี่ยนแปลงในใจตนเองแน่นอน
อย่างไรก็ตามหากที่วัดท่านยังไม่มีพระอาพาธให้ดูแล หรือติดขัดเรื่องเทคนิคในการดูแลพระอาพาธ ไม่มีเพื่อนปรึกษาให้กำลังใจ จะลองมาเป็นจิตอาสาร่วมเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันที่สันติภาวันก่อน เราพร้อมต้อนรับทุกรูปด้วยความยินดี