การได้เข้าเยี่ยมพระอาพาธที่ต้องนอนโรงพยาบาลเป็นประจำทุกๆ สัปดาห์ทำให้เราพบว่า กลุ่มพระอาพาธที่น่าเห็นใจมากที่สุดกลุ่มหนึ่งคือผู้ที่เป็นอัมพฤกษ์อัมพาตจากเส้นเลือดในสมองแตก นอกจากความทุกข์ใจที่ยอมรับสภาพตัวเองไม่ได้ จากคนที่เคยแข็งแรงทำงานได้ดีมีอันต้องกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงแล้ว ยังช้ำใจที่หาผู้ที่จะรับไปดูแลต่อหลังออกจากโรงพยาบาลไม่ได้ เพราะทุกคนรู้ดีว่าถ้าผู้ป่วยร่างกายแข็งแรงดีไม่มีโรคแทรกซ้อนรุนแรง อาจต้องใช้เวลาดูแลต่อเนื่องนับสิบปีก็เป็นได้
โดยหลักการภาระการดูแลนี้ควรตกเป็นของพระในวัดที่ท่านอยู่ แต่ในทางปฏิบัติยังคงมีปัญหาในรายละเอียดอีกมาก เช่น สถานภาพของท่านในวัด เจ้าอาวาสมีนโยบายเรื่องนี้อย่างไร บางรูปก็ไม่ได้อยู่วัดที่ตนเองบวชแต่ไปอยู่ช่วยงานในอีกวัดหนึ่ง เมื่ออาพาธติดเตียงขึ้นมาปัญหามีว่าวัดใดควรเข้ามาดูแล นอกจากนี้หลายวัดในชนบทมีพระน้อยเพียง ๑-๒ รูป หรือมีแต่พระชราพระอาพาธที่มาบวชเมื่อแก่ แค่ดูแลตัวเองก็ยังทำได้ยากแล้ว คงยากที่จะช่วยดูแลพระที่เป็นอัมพาตได้
ส่วนใหญ่ภาระนี้ในที่สุดก็จะตกเป็นของครอบครัวซึ่งอาจเป็นอดีตภรรยา ลูก หรือแม้แต่พ่อแม่ การรับไปดูแลก็มีทั้งแบบที่เต็มใจเพราะยังห่วงใยผูกพันกันอยู่ แบบยินดีเพราะท่านพอมีทรัพย์สินเหลือตกทอดให้คนดูแลบ้าง แบบจำใจรับเพราะทิ้งกันไม่ลง หรือแบบยอมจำนนต้องทนรับเพราะกลัวบาป กลัวสังคมตำหนิก็มี และเมื่อดูแลอยู่ที่บ้านอย่างไร้กำหนดก็มักจะหมดความเป็นพระไปโดยปริยาย
ความลำบากใจของญาติในการรับกลับไปดูแลจะยิ่งทวีมากขึ้นเมื่อหลวงพ่อหลวงพี่ของตนทิ้งบ้านหนีภาระไปบวช โดยบอกคนข้างหลังว่าจะสละชีวิตเพื่อช่วยงานพระศาสนา ปล่อยให้ลูกเมียผจญชะตาชีวิตกันตามลำพัง แต่แล้ววัดกลับส่งคืนมาเมื่อหาประโยชน์จากเขาไม่ได้อีกต่อไป เป็นใครก็ต้องน้อยใจและรู้สึกว่าไม่เป็นธรรมกับเขาอย่างยิ่ง อาจถึงขั้นทำให้ชิงชังศาสนากันเลยทีเดียว
ส่วนทัศนะของพระอาพาธที่นอนติดเตียงอยู่นั้น แทบทุกท่านอยากกลับไปอยู่วัด แต่ก็รู้ชัดว่าคงไม่มีใครมาใส่ใจดูแล การกลับไปอยู่กับญาติจึงเป็นทางออกเดียวที่ต้องยอมจำนน แม้เป็นถึงเจ้าอาวาส เจ้าคณะ ที่ดูแลพระเณรมากมาย แต่สุดท้ายเมื่อต้องนอนโรงพยาบาลก็พบเสมอว่าผู้ที่อยู่นอนเฝ้าก็คือญาตินั่นเอง พระเณรใต้ปกครองที่มานั้นส่วนใหญ่มาเยี่ยมเพียงชั่วเวลาสั้นๆ เท่านั้น ครั้นกลับไปพักฟื้นดูแลต่อที่วัดแล้ว มีไม่น้อยที่ญาติยังต้องตามไปอยู่ดูแลด้วย และลงเอยด้วยการนิมนต์กลับไปอยู่ที่บ้านเพื่อความสะดวกของผู้ดูแล
สันติภาวันเองก็รู้สึกลำบากใจทุกครั้ง ที่ต้องปฏิเสธการรับพระที่อาพาธติดเตียงอันนื่องจากเส้นเลือดในสมองแตกเหล่านี้ เพราะตระหนักดีถึงภาระอันหนักของคนในครอบครัวที่ดูแลอยู่ แต่ด้วยความจำกัดของพื้นที่และบุคลากร อีกทั้งเป้าหมายที่เรามุ่งทำงานดูแลพระอาพาธระยะ ๓ เดือนสุดท้ายของชีวิตเป็นหลัก แม้จะยังมีเตียงว่างอยู่บ้างแต่ก็ต้องปฏิเสธการรับพระอาพาธที่ต้องดูแลในระยะยาวแบบนี้ไว้ก่อน เพื่อให้มีเตียงว่างไว้รอรับพระที่เป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของเรา
ปัญหานี้จึงนับว่ามีความสำคัญมาก หากสถาบันศาสนาไม่สามารถให้ความมั่นใจกับศาสนิกที่จะสละโลกมุ่งเดินสู่ทางสายธรรม ว่าเขาจะมีชีวิตอยู่อย่างมั่นคงตราบจนวาระสุดท้ายแห่งชีวิตได้ จะมีคนดีๆ มีความสามารถสักเท่าไร ที่จะทุ่มเทกายใจแบบสุดตัวมาทำงานหรือปฏิบัติธรรมถวายชีวิตแก่พระศาสนา อาจกล่าวได้ว่าเรื่องนี้เป็นตัวชี้วัดที่ดีอย่างหนึ่งของความอยู่รอดยั่งยืนของคณะสงฆ์ไทยในอนาคตด้วย
ทุกวันนี้มีคนที่มีความรู้ความสามารถจำนวนไม่น้อยที่รู้สึกอิ่มตัวกับการใช้ชีวิตทางโลก สนใจจะศึกษาปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง ประกอบกับสังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ มีผู้สูงอายุที่มีประสบการณ์มีความรู้สูงตั้งใจบวชอุทิศชีวิตแก่พระศาสนามากขึ้น หลายคนยังมั่นใจว่าหากได้ใช้ชีวิตบั้นปลายใต้ร่มพระศาสนาคงนำพาให้ตนมีชีวิตที่สงบเย็นและจากโลกนี้ไปอย่างมีความสุข แต่หากรู้ความจริงเรื่องนี้เข้าเขาคงเปลี่ยนการตัดสินใจเป็นแน่
พวกเราทั้งฝ่ายคณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนที่สนใจรักษาพระศาสนา จึงควรต้องเร่งช่วยกันคนละไม้ละมือเพื่อหาทางออกเตรียมไว้แต่บัดนี้ เริ่มตั้งแต่พัฒนาวิธีจัดการดูแลพระอาพาธของแต่ละวัด ช่วยกันดูว่าระบบการศึกษาและปฏิบัติธรรมจะบรรเทาปัญหานี้ลงได้อย่างไร องค์กรปกครองสงฆ์จะสั่งการหรือจัดโครงสร้างอย่างไรเพื่อแก้ปัญหาได้อย่างเป็นระบบ อีกทั้งระบบสุขภาพของประเทศและพุทธศาสนิกชนทั้งหลายก็ต้องพิจารณาว่าจะช่วยเหลือกันได้อย่างไรด้วย หาไม่แล้วปัญหาใหญ่และซับซ้อนจะรอเราอยู่เบื้องหน้าแน่นอน…