เป็นความจริงที่ว่านอกจากสันติภาวันแล้ว ยังมีพระและญาติโยมอีกเป็นจำนวนมากที่ดูแลพระอาพาธซึ่งช่วยเหลือตัวเองไม่ได้อยู่ที่วัดหรือบ้านของตน หลายท่านต้องแบกรับภาระอยู่คนเดียว หากเป็นโยมก็ยังต้องดิ้นรนหาเลี้ยงปากท้องของตนหรือคนในครอบครัวอีกด้วย

เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นอกเหนือจากพระอาจารย์ไพศาล วิสาโล จะได้มาแสดงธรรมโปรดญาติโยมที่สันติภาวันแล้ว หลังทำวัตรเช้าท่านยังได้ให้โอวาทข้อธรรมเป็นกำลังใจแก่พระที่อาสาดูแลพระอาพาธอยู่ที่นี่ด้วย จึงขอสรุปมาแบ่งปันให้ทุกท่าน โดยเฉพาะพระคุณเจ้าที่กำลังดูแลพระอาพาธอยู่ ให้มีโอกาสได้รับธรรมอันงดงามนี้ไว้ชโลมจิตใจด้วย

ท่านเริ่มต้นด้วยการกล่าวถึงวิถีชีวิตของพระที่นี่ แม้สันติภาวันจะไม่ได้ใช้ชื่อว่าวัดหรือที่พักสงฆ์ แต่พระที่นี่ก็ใช้ชีวิตทำกิจของสงฆ์เช่นเดียวกับพระทั่วไป ได้สวดมนต์ทำวัตร ออกบิณฑบาต ศึกษาปฏิบัติธรรม แต่ที่พิเศษกว่าที่อื่นคือ ได้ดูแลพระอาพาธอย่างจริงจัง

ท่านอาจารย์มองว่า คุณธรรมคือสิ่งที่นำให้พระทุกรูปมาอยู่ที่นี่ เราตั้งใจมาเพื่อจะให้ความช่วยเหลือแก่พระอาพาธที่พึ่งตัวเองไม่ได้แล้ว แม้แต่ในเรื่องการขับถ่าย ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เป็นกิจที่พระพุทธเจ้าชื่นชม ต้องอาศัยทั้งความเมตตา กรุณา และมีขันติความอดทนในการดูแลอย่างมาก

พระอาจารย์เตือนพวกเราให้ระวังความทุกข์ใจที่เกิดขึ้นเมื่อทำงานตรงนี้ โดยเฉพาะเมื่อพระที่ดูแลมีลักษณะหรือพฤติกรรมที่ไม่เป็นดังที่คาดหวัง ท่านอาจทำตัวไม่น่ารัก ไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ช่วยผ่อนแรง หรือแม้แต่กล่าวคำขอบคุณที่ช่วยดูแล

สิ่งที่จะช่วยบรรเทาให้เราไม่ทุกข์ไม่ขัดเคืองใจกับสถานการณ์เหล่านี้ได้ คือการยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ไปตัดสินถูกผิดกับท่าน ไม่คาดหวังว่าท่านต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ หรือพยายามเปลี่ยนท่านให้เป็นดั่งใจเราให้ได้ ทั้งนี้เพราะท่านกำลังป่วย ความเจ็บป่วยนั้นทำให้พฤติกรรมคนเราเปลี่ยนไปได้

พระอาจารย์บอกว่า การวางใจต่อการดูแลพระอาพาธนั้นก็เหมือนกับการฝึกสติ ที่จะต้องยอมรับ และอนุญาตให้ทุกความคิด/อารมณ์เกิดขึ้นได้ ขอเราเพียงมีสติรับรู้เป็นกลางๆ ไม่ผลักไส หรือปล่อยใจไหลไปตามอารมณ์นั้น เราก็จะไม่ทุกข์ใจมากกับเรื่องเหล่านั้น

พระอาจารย์ยังเตือนพวกเราด้วยว่า ไม่ควรคาดหวังแม้ต่อผลแห่งความดีที่ทำไป ไม่หวังว่าจะต้องมีใครชื่นชม หรือเห็นคุณค่าของสิ่งที่เราทำ ในยุคนี้คนมีความเห็นแตกต่างกันได้มาก และแสดงความคิดเห็นได้ง่าย จึงเป็นธรรมดาที่เขาอาจตำหนิ เห็นแย้งกับสิ่งที่เราทำ หรือวิจารณ์การทำงานของเราในด้านลบได้เสมอ เราต้องวางใจยอมรับเรื่องเหล่านี้ให้ได้

ท่านอาจารย์กล่าวถึงพุทธภาษิตบทหนึ่ง ที่พระนันทิยะยกขึ้นบอกกับพระองคุลีมาลช่วงที่เพิ่งบวชได้ไม่นาน ว่า “ผลแห่งความดีนั้นย่อมเป็นพิษแก่ผู้ที่ไม่พิจารณา แล้วหลงใหลติดอยู่ในสิ่งนั้น จนกลายเป็นประมาทมัวเมา” แม้การดูแลพระอาพาธที่เรากำลังทำอยู่นี้จะเป็นเรื่องที่ดี ทำได้ยาก ถ้าเราติดยึดในสิ่งที่เราทำ โดยไม่รู้จักนำมาใคร่ครวญพิจารณา ก็จะทำให้เกิดความทุกข์ได้ไม่ยาก

ถ้าเราทำงานนี้โดยไม่คาดหวังว่าจะต้องได้รับคำชื่นชม ยอมรับได้แม้ในคำวิพากษ์วิจารณ์ที่ไม่น่ารับฟัง จะทำให้จิตใจเราเข้มแข็ง ถือเป็นการเติบโตขึ้นอีกขั้นหนึ่ง ช่วยให้ทำงานนี้ต่อไปได้โดยไม่ทุกข์ ท้อแท้ หรือผิดหวัง

ใจที่ยอมรับเสียงวิจารณ์ไม่ว่าจะมาในลักษณะใด รู้จักนำมาพิจารณาหาประโยชน์ แล้ววางท่าทีที่ถูกต้อง จะทำให้ความดีทั้งหลายที่เราทำ ไม่ย้อนกลับมาทำร้ายทำให้เราเป็นทุกข์เสียเอง และยังเป็นเหตุปัจจัยที่หนุนให้ก้าวหน้าในทางธรรม ไปจนกว่าจะถึงที่สุดแห่งทุกข์ด้วย…

(หมายเหตุ-เป็นการบันทึกจากความทรงจำ อาจมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนบ้าง ผู้เขียนขอน้อมรับไว้แต่ผู้เดียว)