ถือเป็นก้าวกระโดดที่สำคัญของระบบดูแลผู้ป่วยระยะท้าย เมื่อกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้จัดตั้งกุฏิชีวาภิบาลในวัด และสถานชีวาภิบาลในชุมชน เพื่อดูแลพระและผู้ที่ป่วยอยู่ในระยะท้ายของชีวิต โดยกำหนดเป็น ๑ ใน ๑๐ นโยบายเน้นหนัก ปีงบประมาณ ๒๕๖๗
แม้ประเด็น “การดูแลผู้ป่วยระยะท้ายและการตายดี” ได้ถูกหยิบยกนำเสนอสู่สังคมมานานกว่า ๒ ทศวรรษ แต่กระแสความตื่นตัวของผู้คนและองค์กรภาครัฐต่อเรื่องนี้ก็เกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป
พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล ถือเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกในเรื่องนี้ ท่านทุ่มเททั้งในด้านการแปล-การเขียนหนังสือเกี่ยวกับการตายดี ร่วมกิจกรรม สื่อสารบนเวทีต่างๆ รวมทั้งเป็นวิทยากรอบรม “เผชิญความตายอย่างสงบ” ที่จัดต่อเนื่องมากว่า ๒๐ ปี ได้สร้างความตื่นตัวให้สังคมและหน่วยงาน โดยเฉพาะวงการสุขภาพและสถาบันอุดมศึกษาให้หันมาสนใจพัฒนาศาสตร์สาขานี้กันมากขึ้นในสังคมไทย
การกำเนิดขึ้นของสันติภาวัน ก็ถือเป็นผลพวงหนึ่งในการทำงานของพระอาจารย์ไพศาล ที่ทำให้หันมามองความตายพระภิกษุ ซึ่งปัจจุบันถูกกระแสสังคมและระบบสุขภาพซัดพาจนท่านไม่สามารถตายดีได้ แม้จะตั้งใจศึกษาปฏิบัติมายาวนานก็ตาม
การออกนโยบายนี้ ส่งผลให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกระตือรือร้นที่จะขับเคลื่อนให้เกิดผลงานที่เป็นรูปธรรม จัดกิจกรรมเพื่อยกระดับพัฒนาภารกิจดูแลผู้ป่วยระยะท้ายให้ได้มาตรฐานและครอบคลุมยิ่งขึ้น สร้างระบบประสานงานลงไปถึงระดับชุมชน รวมถึงมีงบประมาณสนับสนุนการทำงานด้วย
ศูนย์สันติภาวัน ก็ได้รับการติดต่อจากหน่วยงานสาธารณสุข เพื่อขอเข้าเยี่ยมชม และพูดคุยถึงแนวทางการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมทั้งวางกรอบการประสานงานกับโรงพยาบาลต่อไปด้วยเช่นกัน โดยได้รับการยอมรับให้เป็นสถานชีวาภิบาลของเขตสุขภาพที่ ๖ (๘ จังหวัดภาคตะวันออก)
อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้นการพัฒนาสถาน/กุฏิชีวาภิบาลต้นแบบ โดยท้ายที่สุดจะออกมาในรูปแบบใด มีคุณภาพในการช่วยเหลือผู้ป่วยและพระอาพาธระยะท้ายได้เพียงใด ยังขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัย โดยเฉพาะคนในชุมชนอันเป็นที่ตั้งกุฏิ/สถานชีวาภิบาลนั้นๆ
งานในส่วนกุฏิชีวาภิบาลที่ดูแลพระอาพาธระยะท้าย อาจมีความซับซ้อนกว่าสถานชีวาภิบาลที่ดูแลโยมอยู่ไม่น้อย เพราะมีประเด็นทางพระธรรมวินัยที่คนทั่วไปและบุคลากรด้านสุขภาพไม่คุ้นเคย
เช่นกรณีที่ให้โยมผู้หญิงเข้ามาช่วยดูแล ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่ปฏิเสธได้ยากเมื่อพระไปรับการรักษาในโรงพยาบาล แต่หากดูแลกันที่กุฏิชีวาภิบาลในวัด หากยังอนุญาตให้สตรีเข้ามาดูแลท่านแบบถึงเนื้อตัว อาจถือว่าเป็นความอ่อนแอในการรักษาธรรมวินัยของคณะสงฆ์และชุมชน
อีกทั้งระบบให้เงินค่าตอบแทนผู้ดูแล ที่เป็นเรื่องปกติของฝ่ายฆราวาส แต่อาจไม่เหมาะสมหากนำมาใช้กับพระผู้อุปัฏฐาก อันเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ในคณะสงฆ์ควรต้องหาทางออกที่ดีร่วมกันต่อไป
ท่ามกลางข่าวที่น่ายินดี ชาวพุทธยังมีหน้าที่เข้าไปร่วมสนับสนุนการจัดตั้งกุฏิชีวาภิบาลในวัดใกล้บ้าน ช่วยทั้งกำลังกาย กำลังทรัพย์ และกำลังสติปัญญา นำพาพระอาพาธให้ได้รับการดูแลกาย-ใจ ตามกรอบพระธรรมวินัยกันจริงๆ เมื่อทำได้เช่นนั้น “บุญ” คือความดีงาม ความสุขใจ อิ่มใจ จะอบอวนอยู่ทั่วไปในกุฏิชีวาภิบาลทุกๆ แห่ง