ในช่วงที่หาข้อมูลเตรียมก่อตั้งสันติภาวัน เรามีโอกาสพบหลวงตารูปหนึ่งนอนติดเตียงอยู่ในศูนย์ดูแล ท่านรูปร่างผอมบางยิ้มง่ายพูดเบาๆ ด้วยสำเนียงอีสาน ท่านมักนอนหันมองไปที่ถนนข้างอาคาร เมื่อเราคุ้นเคยกันมากขึ้นวันหนึ่งท่านถามว่าถนนนี้ไปถึงไหน เราก็ตอบท่านไปตามตรงโดยไม่เอะใจ และไม่ได้สอบถามอะไรเพิ่ม
วันถัดมาเมื่อแวะไปเยี่ยมท่านอีก ท่านจับแขนแล้วพูดว่า “พาหลวงตากลับวัดแน… พาไปวัดที่อุดรแน หลวงตามีย่ามใบเดียวนี่แหละ” พร้อมทั้งมีน้ำตารื้นขึ้นมาให้เห็น
เราคงไม่ใช่คนแรกที่ท่านขอร้อง และคำตอบที่เราให้ท่านในวันนั้น ก็คงเป็นคำพูดเดิมๆ จากคนแล้วคนเล่าที่ท่านขอร้อง “หลวงตายังกลับไม่ได้หรอก ที่วัดไม่มีคนดูแล ตอนนี้หลวงตาอาการไม่ค่อยดี ลุกขึ้นทำอะไรเองไม่ไหวแล้ว อยู่ที่นี่แหละเขาช่วยดูแลดี มีคนป้อนข้าวน้ำ เช็ดตัวให้…”
วันนั้นเราในฐานะคนนอกไม่สามารถช่วยอะไรหลวงตาได้มากไปกว่านี้ แต่การได้พบท่าน ทำให้สันติภาวันได้กำหนดเงื่อนไขในการรับพระเข้ามาดูแลข้อหนึ่งคือ “ท่านต้องเต็มใจมาอยู่กับเรา”
ในทางปฏิบัติเราทราบดีว่าเงื่อนไขนี้เป็นข้อที่ถูกละเลยมากที่สุด ผู้ที่ติดต่อมาเพื่อจะส่งพระ มักบอกว่าท่านเต็มใจมา เพราะอยากให้เรารับท่านไว้ดูแล ในขณะที่พระอาพาธส่วนใหญ่ก็อยู่ในภาวะที่พูดไม่ออกปฏิเสธไม่ได้ จำใจต้องมา เพราะจะอยู่โรงพยาบาลต่อไปก็ไม่ได้ วัดก็ไม่รับ ญาติก็ไม่มี (ถึงมีก็ไม่พร้อมจะดูแล) สำหรับรูปที่อยู่บ้านโดยญาติเป็นผู้ติดต่อมา ท่านก็เกรงใจญาติซึ่งมักดูแลต่อไม่ไหว ส่วนรูปที่สื่อสารไม่ได้นั้น ท่านหมดหนทางปฏิเสธตั้งแต่แรก
หลังจากอยู่สันติภาวันจนพอมีความคุ้นเคยกันแล้ว พระกลุ่มที่สื่อสารได้ปกติ บางรูปจะบอกเราตรงๆ ว่าอยากกลับบ้าน/วัด บางรูปจะโทรศัพท์คุยกับพระที่วัดหรือคุยกับทางบ้านให้เรารับรู้ว่าอยากกลับ บางท่านก็ขอให้เราช่วยพาไปเยี่ยมบ้านหรือไปพบครูบาอาจารย์ที่โน่นที่นี่
สำหรับท่านที่มีความจำกัดในการสื่อสาร เราจะสังเกตได้จากท่าทีดีใจ กระตือรือร้น หรืออาจถึงขั้นร้องไห้ เมื่อให้วิดีโอคอลคุยกับญาติ หรือเมื่อญาติมาเยี่ยม และจะซึมลงหลังจากวางสาย หรือญาติกลับ
บางท่านมีอาการเหม่อมองเพดาน มองออกไปข้างนอก ดูเหงา พูดน้อย ไม่สดชื่น ถ้าถามว่าอยากกลับบ้านหรือ ก็จะพยักหน้าตอบรับ
วันนี้ วันที่สันติภาวันรับผิดชอบดูแลพระอาพาธเองแล้ว แต่เราก็ยังไม่สามารถช่วยส่งพระกลับวัด/กลับบ้านได้ตามที่ท่านประสงค์
พระอาพาธที่เราดูแลมาทั้งหมด ๑๕ รูป มีถึง ๗ รูป ที่ท่านแสดงออกว่าอยากกลับ และมีเพียง ๓ รูปเท่านั้น ที่ท่านได้กลับตามประสงค์ บางรูปแม้รู้ว่ากลับไปแล้วจะต้องทนอยู่อย่างลำบากเพราะผู้ดูแลไม่เอาใจใส่ แต่ด้วยความห่วงใยผูกพัน ท่านก็ยังยืนยันที่จะกลับ ส่วนอีก ๔ รูปที่เหลือ เราไม่สามารถให้กลับได้เพราะไม่มีใครยินดีรับท่านไว้ดูแลต่อ
พระอาพาธที่เหลืออีก ๘ รูป มี ๔ รูป สติสัมปชัญญะท่านไม่ดีพอที่จะรับรู้หรือสนใจเรื่องที่อยู่ นอกนั้นท่านมั่นใจว่าจะฝากชีวิตไว้ที่สันติภาวันเพราะไม่รู้ว่าจะอยู่ได้อย่างไรหากกลับไปที่วัดเดิม
ข้อมูลเหล่านี้พอจะบอกได้ว่าวัดที่เคยอยู่ กุฏิที่เคยจำวัด คือที่ที่พระอาพาธต้องการกลับไปใช้ชีวิตในช่วงสุดท้ายมากที่สุด แต่ที่ท่านไม่กลับเพราะทางวัดปฏิเสธ หรือไม่แน่ใจว่าจะอยู่อย่างไร ใครจะดูแล การช่วยกันสนับสนุนให้วัดหรืออย่างน้อยๆ วัดใหญ่ในแต่ละตำบล มีความพร้อมในการดูแลพระอาพาธติดเตียงนั้น เป็นวิธีหนึ่งที่เราจะมีส่วนร่วมช่วยเหลือพระอาพาธได้ ซึ่งดีกว่าการเพิ่มจำนวน หรือขยายศูนย์ดูแลในลักษณะเดียวกับสันติภาวัน
เมื่อวัดจัดการดูแลพระอาพาธได้ ต่อไปอาจพัฒนาให้กลายเป็นศูนย์ดูแลผู้ป่วยติดเตียงของชุมชน รองรับการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว ที่ลูกหลานต้องไปทำงานมิได้อยู่บ้านเหมือนครั้งอดีต ใช้พลังของวัดและศาสนาให้ย้อนกลับมาเกื้อหนุนชุมชนอีกครั้ง
ส่วนที่สันติภาวันเอง เรากำลังเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ รวบรวมความรู้และประสบการณ์ในการดูแลพระอาพาธให้เป็นระบบ เพื่อร่วมสนับสนุนให้วัดได้นำไปใช้ดูแลพระอาพาธต่อไป ส่วนศูนย์ดูแลของเราจะสำรองไว้เป็นพื้นที่สงเคราะห์พระอาพาธที่ไม่มีที่พักพิงจริงๆ
นอกจากนี้เรายังตั้งใจจะพัฒนาสันติภาวันให้เป็นพื้นที่เฉพาะสำหรับพระที่มุ่งใช้ชีวิตช่วงท้ายเพื่อพัฒนาจิตใจโดยตรง เพราะในบางกรณีวัดที่เคยอยู่มานานอาจไม่ใช่ที่เหมาะสมนักสำหรับระยะท้ายของชีวิต เนื่องจากมีภาระที่สละได้ยาก ทั้งการงาน ศิษย์ และญาติโยม การปลีกตัวจากพื้นที่อาจเป็นคำตอบที่ดีต่อท่านมากกว่า
ในเส้นทางเพื่อการมรณภาพที่ดีของพระนั้น ยังมีกิจกรรมอีกมากที่พุทธบริษัททั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์จะต้องช่วยกันพัฒนาให้เป็นรูปธรรม หากพระผู้ละโลกมุ่งศึกษาธรรมยังตายดีไม่ได้ แล้วชาวบ้านทั่วไปจะมั่นใจในการปฏิบัติธรรมได้อย่างไร