ความยากลำบากที่สุดในการดูแลผู้ป่วยหนัก/ผู้ป่วยติดเตียงอย่างหนึ่งคือ เมื่อไหร่ควร “พอ” หรือยุติความพยายามในการหาหนทางรักษาให้หาย เพราะดูเหมือนว่าโอกาสในการรักษาโรคยังเปิดอยู่เสมอ ถ้าไม่ได้ด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ ก็ยังมีการแพทย์ทางเลือก/สมุนไพรอีกสารพัดสูตร ยังไม่รวมพิธีกรรม เวทย์มนต์ ไสยศาสตร์อีกนับไม่ถ้วน

วิธีการรักษาเหล่านี้อาจช่วยผู้ป่วยจำนวนหนึ่งให้ดีขึ้นหรือหายจากโรค อันเป็นเสมือนแสงรำไรให้ผู้ป่วยและญาติมองว่าเราก็น่าจะมีหวัง ดีกว่ายอมแพ้ตั้งแต่ยังไม่ได้ลองรักษา แต่ในความเป็นจริงผู้ป่วยจำนวนมากอยู่ในสภาพหอบสังขารวิ่งหนีความตาย โดยเฉพาะในรายที่มีทรัพย์ มีคนดูแล หรือมีชื่อเสียงเป็นที่เคารพของผู้คน ไม่เว้นแม้แต่พระผู้ใหญ่

จุดที่ “พอ” หรือ “ไม่ขอไปต่อ” ส่วนใหญ่จะออกจากปากผู้ป่วย เพราะระหว่างเส้นทางวิ่งหนีมัจจุราชนั้น มักสร้างความเจ็บปวดทรมานต่อผู้ป่วยอย่างมาก พร้อมกับสร้างความลำบาก หนัก และเหนื่อยให้ผู้ดูแลไม่น้อยไปกว่ากัน ที่สำคัญอาจถึงขึ้นทำครอบครัวให้ล่มสลายจากค่าใช้จ่ายที่หมดไปกับการรักษา แต่กระนั้นผู้ดูแลส่วนใหญ่มัก “ไม่ฟัง” ไม่ยอมรับคำขอร้องของผู้ป่วย เพราะกลัวความพลัดพรากสูญเสียที่จะเกิดขึ้น

เป็นการบีบคั้นจิตใจผู้ดูแลอย่างยิ่ง หากจะเป็นฝ่ายที่บอกผู้ป่วยว่า “พอแค่นี้เถอะนะ” หรือบอกแพทย์ว่า “ขอยุติการรักษา” เพราะคิดว่านั่นคือการทำร้ายผู้ป่วย ผู้ป่วยอาจมองว่าตนกำลังจะทอดทิ้ง หรืออาจถูกคนรอบข้างติติงว่า อกตัญญู ตระหนี่ หรือเห็นแก่ตัว ทั้งๆ ที่ผู้ดูแลอาจตัดสินใจด้วยความรอบคอบและปรารถนาดีอย่างเต็มที่ต่อผู้ป่วยก็ตาม

การตระเตรียมแนวทางการรักษาเมื่อตนเองป่วยหนัก จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับผู้ที่ต้องการตายดี และไม่ต้องการสร้างความเดือดร้อนให้คนที่ตนรัก ไม่เป็นภาระของครอบครัว รวมถึงไม่อยากก่อให้เกิดความสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็นต่อระบบสุขภาพด้วย

ที่สันติภาวันเรามีเงื่อนไขข้อหนึ่งในการรับพระอาพาธระยะท้ายเข้ามาดูแลคือ ท่านต้อง “พอแล้ว” กับการขวนขวายรักษาโรคให้หาย เพราะเราไม่มีกำลังและทรัพยากรพอที่จะพาท่านตระเวนไปหาวิธีรักษาตามที่ท่านประสงค์ เมื่อท่านวางใจว่าพอในการรักษา ผลสะท้อนกลับมาคือดูแลง่ายขึ้น ท่านจะกลับมาให้ความสำคัญต่อการดูแลจิตใจมากกว่าเพ่งไปยังร่างกายที่กำลังเสื่อมถอยลง

พระส่วนใหญ่ “ขอไม่ไปต่อ” ได้ง่ายกว่ากว่าฝ่ายญาติโยม โดยเฉพาะท่านที่ใช้ปัญญาพิจารณาถึงความไม่เที่ยง ความเป็นธรรมดาของกายนี้อยู่เนืองๆ และด้วยวิถีชีวิตพระที่มีภาระน้อย ไม่มีครอบครัว เจ้าตัวไม่มีทรัพย์ และจำกัดเรื่องผู้ดูแล จะมาเป็นปัจจัยหนุนให้ท่าน “พอ” กับร่างกายนี้ได้ง่ายกว่า

หลวงพี่อนุสรณ์ (นามสมมติ) เป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ แม้ท่านจะไม่ได้มาอยู่กับเราในฐานะผู้ป่วยระยะท้าย เราเองก็ตั้งเป้าหมายว่าดูแลท่านให้หายแล้วส่งกลับวัด โดยในระหว่างที่ดูแลนี้เราพาท่านไปรับยาหาหมอตามนัดไม่ขาด แต่เนื่องจากท่านอยู่ในสภาพกึ่งติดเตียงไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ตามปกติ และมีโรคแทรกซ้อนหลายโรค ทั้งเบาหวาน โรคไต ความดันสูง ไขมันในเลือดสูง และระยะหลังมีภาวะทางสมองทำให้เบลอไม่รู้ตัวช่วงสั้นๆ เป็นระยะด้วย

ประกอบกับที่สันติภาวันเราพูดถึงเรื่องความตายและการเตรียมตัวตายกันเป็นปกติ ท่านก็อยู่มานานพอที่จะเห็นพระที่รับเข้ามาและจากไปหลายรูป รวมทั้งถูกตั้งคำถามเรื่องชีวิตในระยะท้ายด้วย ซึ่งท่านก็ได้ยืนยันกับพวกเรามาตั้งแต่แรกว่า ถ้าเกิดเป็นอะไรหนักไม่ต้องพาท่านไปโรงพยาบาล ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะเคยนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลมานานและมีประสบการณ์ไม่ค่อยดีนัก แต่สาเหตุหลักน่าจะเป็นเพราะท่านไม่มีภาระผูกพันใดๆ

เมื่อปลายเดือนที่ผ่านมาอาการทางไตท่านทรุดในชั่วข้ามคืน คือปวดท้องและปัสสาวะแทบไม่มีเลย (ท่านต้องคาสายสวนปัสสาวะไว้ประจำ ตั้งแต่โรงพยาบาลส่งตัวมา) เราอธิบายให้ท่านทราบว่าหากไม่ไปโรงพยาบาลอาการแบบนี้จะทำให้เสียชีวิตได้ในเวลาไม่นานนัก ถ้าไปโรงพยาบาลให้หมอตรวจรักษาก็อาจได้รับยามาฉันประจำ หรือหนักกว่านั้นอาจต้องล้างไต หรือฟอกไตไปตลอดชีวิต

ท่านยังคงยืนยันหนักแน่นว่าจะไม่ไปโรงพยาบาล ถ้าจะตายก็พร้อม ไม่กลัว ไม่มีอะไรติดค้าง ท่านได้บอกความต้องการต่างๆ กับพระที่ดูแลไว้หมดแล้ว แม้กระทั่งจีวรที่ต้องการครองหลังสิ้นลม เราได้ยินท่านคุยโทรศัพท์กับญาติ (ซึ่งนานๆ จะติดต่อไป และไม่เคยให้เบอร์ญาติกับเรา) ว่าถ้าเงียบหายไปแสดงว่าท่านตายแล้ว

สัปดาห์ถัดมาท่านกลับมามีปัสสาวะอีกแต่ในปริมาณที่น้อย สีเข้ม และมีตะกอนมาก ฉันอาหารได้น้อยลงมาก ไอมากช่วงกลางคืน มีอาการเบลอขาดสติตาขวางถี่และนานขึ้น คันตามตัว ผิวหนังเริ่มเปลี่ยนเป็นสีเหลือง และตามมาด้วยตาเหลือง เราดูแลและให้ยาเท่าที่มีอยู่เพื่อบรรเทาอาการ หวังให้ท่านรู้สึกสบายตัวเท่าที่จะทำได้ รวมทั้งให้สูดออกซิเจนเมื่อท่านหายใจลำบาก ในที่สุดท่านจากเราไปอย่างสงบเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ท่านมรณภาพหลังจากวันแรกที่ปวดท้องไม่มีปัสสาวะ ๑๕ วัน และต้องเช็ดตัวที่เตียงเพราะนั่งรถเข็นไปสรงน้ำไม่ไหวเพียง ๓ วัน อ่านถึงตรงหนี้หลายท่านอาจรู้สึกว่าเร็วจัง หรือคิดแว๊บขึ้นมาในใจว่า “ถ้า” พาท่านไปโรงพยาบาลช่วงที่ปัสสาวะไม่ออกใหม่ๆ ท่านคงยังไม่เสียชีวิต

แต่นั่นคือจุดเริ่มต้นกระบวนการ “ยื้อชีวิต” และไม่ทำตามความต้องการของท่าน ช่วงวิกฤติที่สั้นถือเป็นของขวัญสำหรับผู้เตรียมตัวตายมาดี

ในกรณีของหลวงพี่อนุสรณ์เป็นไปได้มากที่ท่านจะยังมีชีวิตอยู่ได้อีกนานเมื่อไตทำงานดีขึ้น แต่ท่านจะอยู่ในสภาพอย่างไร เป็นชีวิตที่มีความสุขมีคุณภาพหรือไม่ และที่สำคัญคือท่านจะอยู่ไปเพื่อใคร หรือเพื่ออะไร เป็นสิ่งที่เราอาจไม่ได้ตระหนัก

สำหรับท่านคงมีคำตอบที่ชัดเจนอยู่แล้ว อันส่งผลออกมาเป็นคำยืนยันกับเราตลอดมาว่า “ขอไม่ไปต่อ”