ตลอดช่วง ๓ สัปดาห์หลังจากหลวงพ่อมานิตกลับจากการไปตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ อาการของท่านทรุดลงอย่างเห็นได้ชัด เมื่อครบ ๗ วันหมอนัดไปตัดไหม ท่านต้องนอนให้ยาต่อที่โรงพยาบาลอีก ๔-๕ วัน แม้กลับมาอาการก็ยังทรงๆ ทรุดๆ อยู่เช่นเดิม

ท่านอ่อนเพลียไม่มีแรง หอบเหนื่อย โดยเฉพาะเมื่อต้องเคลื่อนย้ายไปสรงน้ำ ไม่สามารถพยุงตัวลุกขึ้นนั่งได้เองเหมือนก่อน การออกกำลังบริหารกายที่เคยทำเป็นอันต้องยุติลง เริ่มมีอาการไอห่างๆ ฉันอาหารน้อยลง แขนด้านที่ไม่มีแรงบวมขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ระยะหลังท้องเริ่มบวมแข็งขึ้น ท่านจะเอามือแตะๆ เหมือนพยายามสื่อว่าอึดอัดหรือปวดท้องให้เรารู้ด้วย

ส่วนสภาพจิตใจนั้นดูเหมือนจะย่ำแย่กว่าเสียอีก ท่านห่อเหี่ยวหมดกำลังใจ รายการสารคดีต่างๆ ที่เปิดให้ดูก็ไม่สนใจอีกต่อไป นอนมากขึ้น แม้แต่เทปธรรมะ เสียงสวดมนต์ที่เคยฟังก็ไม่อยากฟัง

๒-๓ วันก่อนได้พาท่านไปโรงพยาบาลอีกครั้งตามที่หมอนัดติดตามอาการและฟังผลตรวจชิ้นเนื้อ ซึ่งผลก็ไม่ต่างไปจากที่หมอได้คาดไว้ คือพบว่าเป็นเนื้อร้ายหรือก้อนมะเร็งที่ต่อมน้ำเหลือง ที่คาดว่ากระจายมาจากปอดขวาซึ่งพบอยู่อีกก้อนหนึ่ง

แพทย์ได้ถามเราว่าถ้าบอกผลตรวจชิ้นเนื้อท่านตรงๆ หลวงพ่อจะตกใจไหม เราตอบอย่างมั่นใจว่าหลวงพ่อรับได้ เพราะก่อนมาโรงพยาบาลเราได้คุยกันแล้ว ว่าผลการตรวจจะออกมาเป็นอย่างไรได้บ้าง แม้จะสื่อสารกันได้ไม่ชัดเจนเพราะปัญหาจากเส้นเลือดในสมองตีบ แต่ดูจากสีหน้ากิริยาท่าทางรวมทั้งมีบางคำที่เราเข้าใจ ทำให้มั่นใจว่าท่านยอมรับได้หากเป็นมะเร็ง และไม่กลัวความตายที่จะมาถึง

หลังจากแพทย์แจ้งผลให้ท่านทราบ ก็ได้ให้คำแนะนำทางเลือกในการรักษา ๒ แนวทาง ถ้าเลือกที่จะรักษาต่อโรงพยาบาลก็จะส่งตัวเข้าระบบการรักษาที่โรงพยาบาลศูนย์ ซึ่งจะต้องผ่านการตรวจวินิจฉัยโดยละเอียดอีกครั้ง ก่อนเข้าสู่กระบวนการรักษาที่อาจต้องผ่าตัด ฉายแสง และให้ยาเคมีบำบัดอีกหลายครั้ง ซึ่งแพทย์บอกว่าผลการรักษาอาจยืดชีวิตออกไปได้แต่คงไม่นานนัก เพราะท่านอายุมาก สุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง กระบวนการรักษาก็อาจสร้างความทุกข์ทางร่างกายให้พอควร

แต่หากไม่รักษา ทางโรงพยาบาลจะให้การดูแลแบบประคับประคอง บรรเทาอาการเจ็บปวด หอบเหนื่อย หรืออาการแทรกซ้อนต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าทั้งหลวงพ่อและเราผู้ดูแลเลือกวิธีรักษาแบบประคับประคอง ซึ่งแพทย์ก็เห็นด้วยกับแนวทางนี้เช่นกัน โดยช่วงแรกนี้จะนัดติดตามอาการทุก ๒ สัปดาห์

เย็นวันนั้นหลังกลับจากโรงพยาบาล เราได้คุยเรื่องการวางแผนการใช้ชีวิตในช่วงต่อไปจากนี้กับท่าน ว่าจะอยู่อย่างไรให้มีคุณค่าและมีความสุขในชีวิตที่เหลือ ซึ่งดูเหมือนว่าท่านจะแจ่มใสกว่าทุกวัน แต่วันถัดๆ มาท่านก็ได้กลับเข้าสู่โหมดเศร้าเซ็งเช่นเดิม

การตัดสินใจเกี่ยวกับการดูแลรักษาคงไม่จบเพียงเท่านี้ จะต้องมีการประเมินความรู้สึกและสื่อสารกันไปอย่างต่อเนื่องตามอาการและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป แน่นอนว่าทางเลือกในการรักษามะเร็งยังมีอยู่อีกมากมาย แต่ปัญหาใหญ่ของท่านคือการไม่มีเป้าหมายและแรงจูงใจที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป ผนวกกับสภาพร่างกายที่ติดเตียงช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ย่อมทำให้แนวทางทั้งหลายเหล่านั้นหมดเสน่ห์ลงไปทันที

ส่วนปัญหาใหญ่ของเราผู้ดูแล คือไม่สามารถรับรู้สิ่งที่ท่านอยากจะสื่อออกมาได้ชัดเจน หลายครั้งที่ตกอยู่ในอาการอึ้งว่าท่านต้องการอะไร แต่อย่างไรก็ตาม เราจะพยายามอย่างเต็มที่ที่จะช่วยประคับประคองให้ท่านใช้ชีวิตในช่วงนี้อย่างมีคุณค่าและมีความสุขไปพร้อมๆ กันเท่าที่จะทำได้

แม้เราคิดว่าการฟังธรรมะหรือบทสวดมนต์จะดีต่อท่าน แต่เมื่อท่านปฏิเสธเราก็ยอมรับไม่ฝืนหรือคะยั้นคะยอให้ท่านฟัง เมื่อท่านไม่ยอมฉันอาหารก็อาจมีการตื้อบ้าง แต่ก็ไม่ถึงขั้นโกหก บังคับ หรือยัดเยียดให้ฉัน

จุดสำคัญกว่านั้นคือตัวเราผู้ดูแล ที่ต้องระลึกอยู่เสมอว่าท่านกำลังสอนธรรมะบทสำคัญให้เรา ต้องมีสติเฝ้าดูใจให้เข้มข้นขึ้น ไม่เผลอปล่อยให้อกุศลซึ่งมาในหลายรูปแบบเข้าครอบงำ ทั้งความห่อเหี่ยวทุกข์ใจไปกับอาการของท่าน ความอึดอัดขัดข้องที่สื่อสารกับท่านไม่เข้าใจ หรือขุ่นมัวจิตหงุดหงิดใจเมื่อท่านเฉยเมยต่อความปรารถนาดีต่างๆ ที่เราอยากมอบให้

เพราะเมื่อใจผู้ดูแลเศร้าหมองเสียเอง นอกจากจะทำให้บรรยากาศตึงเครียด พระอาพาธไม่มีความสุขแล้ว โอกาสที่จะเกิดสติปัญญาได้เรียนรู้ธรรมะที่ท่านแสดงผ่านร่างกายและจิตใจให้เห็นอยู่ต่อหน้านั้นย่อมหมดไปด้วย บุญกุศลที่ควรจะได้รับก็กลับกลายเป็นบาปได้ทันทีเช่นกัน