ความต้องการที่จะมีชีวิตรอด ถือเป็นสัญชาตญาณหรือธรรมชาติของทุกชีวิต ดังนั้นการที่เรากลัวตายขวนขวายรักษาตัวเมื่อเจ็บป่วยจึงเป็นเรื่องธรรมดา ผู้ที่ไม่ยอมดูแลรักษาตัวเสียอีก จะเป็นฝ่ายถูกติเตียนหรือถูกสังคมลงโทษ
พุทธศาสนาแม้ในด้านหนึ่งท่านให้หมั่นพิจารณาว่า คนเรามีความเจ็บป่วยความตายเป็นธรรมดา แต่เมื่อเกิดมีโรคภัยขึ้นมา ท่านก็กำชับให้ช่วยกันรักษาดูแล หาทางแก้ไขป้องกันมิให้เจ็บป่วยอีก ทั้งนี้เพื่อจะได้ใช้ศักยภาพของความเป็นมนุษย์อย่างเต็มที่ในการสร้างประโยชน์ทั้งในส่วนตนและต่อสังคม
แต่ปัญหาคือควรขวนขวายรักษาตัวแค่ไหนจึงจะพอดี การไม่ใส่ใจดูแลป้องกัน หรือผลุนผลันปฏิเสธการรักษาตั้งแต่เริ่มป่วยก็น่าเสียดาย ส่วนการทุ่มรักษาสุดตัวไปจนตาย ก็เป็นความโหดร้ายที่ซ่อนอยู่ใต้ความหวัง (ว่าจะหาย) ยิ่งในยุคระบบการแพทย์ผูกติดกับธุรกิจที่คอยกระตุ้นให้ “เต็มที่” กับการรักษา ได้ทำให้คนหมดตัว ครอบครัวมีหนี้สินล้มละลายกันไปไม่น้อย
การที่ญาติหรือผู้ป่วยคนหนึ่งจะตัดสินใจยุติการรักษาหรือไม่นั้น เป็นเรื่องใหญ่และซับซ้อน มีหลายเหตุปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนผู้ป่วย ญาติ ผู้รักษา อาการป่วย ความร่ำรวย กฎหมาย ความเชื่อ ประเพณี ฯลฯ ดังนั้นไม่ว่าผู้ป่วยจะบอกว่าสู้ต่อหรือพอแล้วกับการรักษา ควรต้องมีโอกาสพูดคุย ให้ข้อมูล ให้แง่คิด ให้เวลาใคร่ครวญ พร้อมทั้งเปิดช่องให้มีโอกาสเปลี่ยนใจหรือพูดคุยใหม่ได้เสมอด้วย
ในฐานะของผู้ดูแลพระอาพาธ เราพบว่าพระรูปที่ปลงใจจะไม่รักษาต่อ ยอมรับแล้วว่าจะต้องตายในเวลาอันใกล้นั้น จะดูแลได้ง่ายกว่ามาก ท่านจะผ่อนคลายและจากไปอย่างสงบได้ดีกว่า แน่นอนว่าในช่วงต้นท่านอาจรู้สึกเศร้าเป็นธรรมดา แต่ข้อมูล เวลา และคำมั่นว่าเราจะอยู่ข้างๆ คอยดูแล จะช่วยให้ท่านโล่งใจขึ้น ใช้เวลาที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า กลับมาอยู่กับตัวเองมากขึ้น และยังทำให้วิธีการดูแลช่วยเหลือเป็นไปอย่างเหมาะสม ไม่ต้องทนทรมานจากผลข้างเคียงในการดูแลรักษา
หลวงพี่โอภาส (นามสมมติ) ที่เราเคยดูแล ท่านมีอายุเพียง ๔๔ ปี แต่ท่านตัดสินใจชัดเจนมาจากบ้านว่าพอแล้วกับการรักษา หลังจากที่ต้องเข้าออกโรงพยาบาลมาเป็นปี จากเบาหวาน ความดันสูง เส้นเลือดในสมองแตก เส้นเลือดหัวใจตีบ ไตวาย และยังพบหนองในกระดูกสันหลังที่รอการตรวจวินิจฉัยอยู่อีก พี่สาวต้องลาออกจากงานมาดูแล ก่อนมาที่สันติภาวันท่านตัดสินใจหยุดฟอกไต และสั่งพี่สาวว่าไม่ต้องนำยาติดมาด้วยเลย
ความชัดเจนของท่านทำให้เราดูแลง่าย ท่านอยากฉันอะไรเราก็พยายามจัดให้โดยไม่ต้องกังวลว่าจะแสลงต่อโรค แทนที่ท่านจะต้องทนเจ็บล้างแผลกดทับทุกวัน เราก็จัดการดูแลแผลใหม่ให้รบกวนท่านน้อยที่สุด ให้ยาเท่าที่จำเป็น มีบางอารมณ์ที่ท่านอยากกลับบ้าน เมื่อชวนให้ทบทวนถึงการตัดสินใจมาที่นี่ ท่านก็ตัดใจได้อย่างรวดเร็ว ท่านอยู่ให้เราดูแลเพียง ๓ สัปดาห์ ก็จากไปอย่างสงบ
แต่พระอีกหลายรูปที่ส่งมาให้เราดูแล การตัดสินใจยุติการรักษาเริ่มมาจากฝ่ายญาติหรือทางวัด ด้วยเหตุผลหลักคือดูแลไม่ไหว (ไม่มีเวลา, ค่าใช้จ่าย) หรือไม่คนดูแล แม้การเจ็บป่วยของท่านไม่สามารถรักษาให้หาย แต่ก็อาจยังไม่ถึงขั้นระยะท้ายชัดเจน โดยที่ตัวท่านอาจไม่รับรู้และไม่เต็มใจนักที่จะยุติการรักษานัก
ในกรณีเช่นนี้เมื่อเราชวนท่านคุยเรื่องความตาย หรือการเตรียมความพร้อมในช่วงท้าย เราจะเห็นได้ชัดว่าท่านไม่อยากคุย แม้คุยแล้วก็ปล่อยผ่านไม่สนใจ เมื่อเจ็บปวดหรือมีอาการผิดปกติขึ้นมา ก็จะเรียกร้องอยากได้ยาดีๆ มีคนพาไปโรงพยาบาล
อย่างเช่นหลวงพ่อเฉลิมชัย (นามสมมติ) ที่หลังจากผ่านวิกฤติจากภาวะหัวใจวาย โรงพยาบาลได้ส่งมาให้เราดูแล เราเคยคุยกับท่านตั้งแต่แรกว่า หลวงพ่อมีความเสี่ยงที่จะมรณภาพได้เสมอ เพราะหมอทำได้เพียงให้ฉันยา ไม่สามารถขยายหลอดเลือดได้ ท่านก็ดูไม่สนใจเพลิดเพลินกับสุขภาพที่ีื้กำลังฟื้นตัวขึ้น แต่เมื่อมีอาการผิดปกติปวดขาปวดไหล่ขึ้นมา ท่านจะรู้สึกกังวลมาก อยากให้รีบพาไปตรวจ ทางโรงพยาบาลเองก็ไม่กล้าส่งยามาให้ท่านฉันต่อเนื่องระยะยาว เพราะยังไม่มีโอกาสตรวจร่างกายเพื่อปรับยาให้เหมาะสม ในที่สุดเราต้องตัดสินใจส่งท่านกลับไปที่วัด เพื่อให้พาท่านไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลเดิมอย่างต่อเนื่องก่อน
ส่วนกรณีหลวงพ่อเทพ (นามสมมติ) ซึ่งท่านเคยเส้นเลือดในสมองตีบ/แตกมาถึง ๓ ครั้ง จนแขนขาทั้งสองข้างอ่อนแรงช่วยเหลือตัวเองได้น้อย แพทย์ประเมินว่าการแตกครั้งหลังสุดเมื่อครึ่งปีกว่าๆ ที่ผ่านมานั้น มีโอกาสที่จะฟื้นกลับเหมือนเดิมได้ยาก แต่ท่านก็ยังมีความหวังว่าจะกลับไปเดินได้อีกเหมือนที่แตก ๒ ครั้งก่อน ท่านเคยพูดว่าการมาอยู่ที่สันติภาวันทำให้ขาดโอกาสที่จะรักษาให้กลับไปเดินได้อีกครั้ง (ในขณะที่ทางญาติก็ไม่พร้อมที่จะรับท่านกลับไปดูแล) ทำให้ท่านอยู่กับเราอย่างเฉื่อยชา ตาเหม่อลอย และยังคอยอยู่เสมอว่าญาติจะมารับกลับ
ความจริงแล้วสันติภาวันเรามีเกณฑ์อยู่ข้อหนึ่งในการรับพระอาพาธเข้ามาดูแล คือท่านต้องปลงใจไม่ขวนขวายหาหนทางรักษาแล้ว เพราะเราไม่มีกำลังพอที่จะด้นดั้นพาท่านไปรักษาตามที่ต้องการ และเราก็มิใช่สถานพยาบาล ไม่มีทั้งบุคลากรและเครื่องมือที่จะใช้บำบัดโรคหรือฟื้นฟูสุขภาพอย่างเป็นระบบ และที่สำคัญดังกล่าวมาแล้วคือ พระที่ปลงใจไม่หวังจะหายนั้นดูแลได้ง่ายกว่า ทำให้เราทำหน้าที่ในส่วนประคับประคองจิตใจได้เต็มที่ตามวัตถุประสงค์
สำหรับญาติโยมก็เช่นกัน แม้ขณะที่สุขภาพยังดีอยู่ ก็ควรหาโอกาสตั้งคำถามกับตัวเองด้วยว่า ถ้าเจ็บป่วยขึ้นมาเราจะรักษาตัวเองอย่างไร จะทุ่มเทไปถึงไหน และใครจะช่วยให้ความตั้งใจของเราเป็นจริงได้ การเขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร และพูดคุยกับคนรอบข้างให้เข้าใจ ก็เป็นทางหนึ่งที่ช่วยได้มาก
เรื่องแบบนี้คุยกันได้หลายครั้ง และเปลี่ยนใจได้เรื่อยๆ อย่าถือเป็นเด็ดขาดในครั้งเดียว เพราะความรู้เกี่ยวกับโรคและการรักษานั้นพัฒนาไปไม่หยุด และที่สำคัญท่าทีต่อชีวิตสภาพจิตใจเราเอง ก็เปลี่ยนไปตามปัจจัยแวดล้อมตลอดเวลา
แต่ไม่ว่าจะคุยมากน้อยเพียงใด ก็ดีกว่าปล่อยผ่านไปหรือคิดอยู่ในใจคนเดียว เพราะเราประมาทต่อการเจ็บป่วยและความตายไม่ได้ หากเวลานั้นมาถึงอย่างไม่คาดคิด สิ่งที่ได้คิดได้คุยไว้จะช่วยให้อะไรๆ ง่ายขึ้นสำหรับทุกคน