ชาวพุทธผู้ใฝ่บุญย่อมคุ้นเคยดีกับพุทธพจน์ที่ยกขึ้นเป็นหัวข้อบทความนี้กันดี พุทธพจน์นี้ทำให้หลายคนสนใจทำบุญเกื้อหนุนพระอาพาธตามในโรงพยาบาลต่างๆ เพราะถือเป็นบุญใหญ่เปรียบได้ดั่งอุปัฏฐากพระพุทธองค์ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนาและช่วยพระอาพาธได้ไม่น้อย

แต่หากจะยกพุทธพจน์นี้เพื่อจูงใจให้ทำบุญเพียงอย่างเดียว นอกจากจะเป็นการเบี่ยงเบนเนื้อหาของพุทธพจน์แล้ว ยังทำให้อานิสงส์ของการดูแลพระอาพาธจำกัดลงอย่างมากด้วย เพราะพระที่กำลังรักษาตัวในโรงพยาบาลเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ แต่ยังมีพระอาพาธอีกมากที่ยังต้องการผู้ดูแลและความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง

ความจริงพุทธพจน์บทนี้พระพุทธองค์มุ่งตรัสกับหมู่สงฆ์โดยเฉพาะ เป็นการย้ำถึงความสำคัญในการดูแลกันยามเจ็บป่วยของพระ จนนำไปสู่การบัญญัติสิกขาบท คือแนวปฏิบัติในวิถีชีวิตพระ ถ้าพระภิกษุไม่ปฏิบัติตามจะเป็นอาบัติ

ที่มาของพุทธพจน์บทนี้ (พระไตรปิฎก เล่ม ๕, ข้อ ๑๖๖) กล่าวตั้งแต่พระพุทธองค์เสด็จไปพบว่ามีพระภิกษุรูปหนึ่งอาพาธด้วยโรคท้องร่วงนอนซมจมกองอุจจาระอยู่ในกุฏิ ไม่มีพระรูปใดดูแล หลังจากพระพุทธองค์กับพระอานนท์สรงน้ำดูแลพระรูปนั้นเสร็จ ได้เรียกประชุมสงฆ์ สอบถามหมู่สงฆ์ซึ่งก็ทราบดีว่าที่กุฏินั้นมีพระอาพาธอยู่ แต่ที่ไม่ช่วยดูแลเพราะพระรูปที่อาพาธนั้นก็ไม่ช่วยเหลือเกื้อกูลหมู่สงฆ์เลย

พระพุทธองค์จึงตรัสกับเหล่าภิกษุว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอไม่มีมารดาไม่มีบิดา ผู้ใดเล่าจะพึงพยาบาลพวกเธอ ถ้าพวกเธอจักไม่พยาบาลกันเอง ใครเล่าจักพยาบาล ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดจะพึงอุปัฏฐากเรา ผู้นั้นพึงพยาบาลภิกษุอาพาธ…” จากนั้นทรงมอบหมายให้อุปัชฌาย์ อาจารย์ พระผู้เป็นศิษย์ พระร่วมอุปัชฌาย์ อาจารย์ หรือหมู่สงฆ์ในวัด ให้เป็นผู้ดูแลกันยามเจ็บไข้ (ไปตามลำดับ) ไปจนกว่าจะหายหรือมรณภาพ ถ้าพระอาพาธถูกทอดทิ้งไม่มีใครดูแลเลย ทรงปรับอาบัติทุกกฏ (นั่นคือพระทั้งวัดถูกปรับอาบัติ)

แม้อาบัติทุกกฏถือเป็นอาบัติเล็กน้อยที่ปลงได้ และเป็นสิกขาบทที่มิได้มาในพระปาติโมกข์ แต่หากพิจารณาถึงสาระจะเห็นได้ว่าเรื่องนี้สำคัญมาก ถึงขนาดที่พระพุทธองค์ตรัสให้ไปดูแลพระอาพาธก่อนที่จะมาดูแลพระองค์ และหมู่สงฆ์จะทอดทิ้งพระอาพาธไม่ได้ แม้ว่าพระอาพาธรูปนั้นจะพฤติกรรมแย่ไม่ช่วยงานหมู่คณะเลยก็ตาม

เมื่อพระเป็นผู้ที่ออกจากเรือน มีอุปัชฌาย์อาจารย์เป็นเสมือนพ่อแม่ เรียนรู้ธรรม พัฒนาจิต เลี้ยงชีวิตด้วยอาหารบิณฑบาต ทำงานอุทิศพระศาสนา การที่วัดตามให้ญาติมารับผิดชอบดูแลยามท่านอาพาธ จึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตพระที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ แม้จะยกเหตุผลว่าปัจจุบันพระน้อย มีกิจมาก ทั้งการเรียนทั้งงานคณะสงฆ์ หรือวัดมีแต่พระชรา ก็ไม่มีน้ำหนักพอที่จะปฏิเสธสิ่งที่พระพุทธองค์ฝากไว้ได้

แม้การดูแลพระอาพาธทำให้วัดต้องมีภาระเพิ่มขึ้น แต่ก็ดีกว่าให้ญาตินำกลับไปดูแลมาก นอกจากผลดีต่อพระอาพาธที่ยังได้อยู่วัดปฏิบัติกิจที่พอทำได้แล้ว ในแง่เศรษฐกิจวัดยังสามารถขอแรงระดมทรัพยากรจากชุมชน มาช่วยดูแลพระอาพาธได้ หากอยู่ที่บ้านภาระทั้งหมดจะตกเป็นของครอบครัวนั้น พระอาพาธอาจเป็นต้นเหตุทำให้ญาติพี่นอ้งต้องออกจากงาน มีหนี้สิน หรือถึงขั้นทำให้ครอบครัวเขาแตกแยกได้

การที่พระพุทธองค์เปรียบการดูแลพระอาพาธไม่ต่างจากการอุปัฏฐากพระองค์ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะการใส่ใจดูแลพระอาพาธนั้นมีผลต่อความมั่นคงยั่งยืนของศาสนาโดยตรง เพราะถ้าพระไม่มั่นใจว่าจะอยู่อย่างไรใครดูแลยามเจ็บป่วยแก่ชรา ก็คงไม่มีใครอยากสละชีวิตอุทิศตนออกบวชทำงานสืบสานพระศาสนาอีกต่อไป

เมื่อพระอุปัชฌาย์ อาจารย์ และพระในวัด ตระหนักว่าเป็นหน้าที่ต้องดูแลศิษย์หรือพระร่วมวัดที่อาพาธ การจะรับพระหรือคนบวชใหม่เข้าหมู่คณะก็จะต้องพิจารณาถี่ถ้วนขึ้น มิใช่สักแต่ว่ารับมา/บวชให้แล้วจบ การดูแลพระอาพาธยังเป็นเงื่อนไขให้พระได้ทำงานร่วมกัน รับผิดชอบชีวิตซึ่งกันและกัน ทำให้สามัคคีกันมากขึ้น การดูแลผู้ป่วย การเห็นความตาย ยังเป็นอุบายพิจารณาธรรมได้อย่างดี

การดูแลพระอาพาธยังเป็นเงื่อนไขให้ความสัมพันธ์ของวัดและโยมแน่นแฟ้นขึ้น ทำให้พระไม่เหินห่างเฉยเมยต่อชุมชน เพราะตระหนักดีว่าโยมที่มาวัดนี้เองจะมีส่วนดูแลตนในช่วงท้ายของชีวิต

เมื่อเข้าใจพุทธพจน์นี้ชัดเจนเราจะพบว่า การดูแลพระอาพาธนั้นเป็นเรื่องใหญ่ที่มีอานิสงส์มาก เพราะมิใช่เพียงแค่เราได้บุญหรือมีผลดีต่อพระอาพาธเท่านั้น แต่ส่งผลถึงความมั่นคงของพระศาสนาเลยทีเดียว

การช่วยกันสนับสนุนหมู่สงฆ์ให้ดูแลพระในวัดยามอาพาธได้ จึงเป็นบุญใหญ่ดุจได้อุปัฏฐากพระพุทธองค์ ซึ่งเราต้องเร่งทำ ก่อนที่จะไม่มีพระอุทิศชีวิตทำงานให้พระศาสนา เพราะถึงคราวชราอาพาธชีวิตท่านขาดความมั่นคง