อย่าปล่อยให้พระต้องถูกผลักกลับไปเป็นภาระของทางบ้านอีกเลย เรื่องนี้สำคัญที่พระทุกวัดควรต้องเตรียมความพร้อมไว้ เพราะไม่มีใครมั่นใจได้ว่าพรุ่งนี้หรือเดือนหน้าตนอาจเป็นพระอาพาธติดเตียงที่ต้องมีคนดูแลตลอดไปก็ได้ แม้ทำแล้วจะมีจุด

ข้อความที่ญาติโยมสื่อสารมาถึงสันติภาวันมากที่สุดคือคำว่า “ขออนุโมทนา” ในบุญใหญ่ที่เราได้อุปัฏฐากพระอาพาธ เพราะทุกท่านทราบดีว่าการดูแลผู้ป่วยติดเตียงเป็นงานหนัก จะหนักยิ่งขึ้นเมื่อต้องรับดูแลหลายคนพร้อมๆ กัน และหนักที่สุดก็ตรงที่ต้องดูแลไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุดและไม่มีเงินเดือน บางครั้งก็มีคำถามห้อยท้ายมาโดยไม่ได้หวังคำตอบด้วยว่า “ท่านทำอยู่ได้อย่างไร”

พร้อมกันนั้นก็มีคำชื่นชมให้กำลังใจทีมงานมาในลักษณะต่างๆ ในจำนวนนี้มีวลีเด็ดที่ฟังดูคล้ายๆ กับให้กำลังใจว่า “ยังดีนะคะที่ดูแลพระ ไม่ยุ่งยากเหมือนดูแลโยม” แต่เอ! จริงหรือเปล่านะ ที่ดูแลพระไม่เป็นภาระเท่าโยม

ญาติโยมส่วนใหญ่คิดว่า พระนั้นมีศีลและปฏิบัติกันมามาก เมื่ออาพาธคงดูแลไม่ยุ่งยากนัก แม้มีส่วนจริงอยู่บ้าง แต่ในหลายสถานการณ์ก็ไม่เป็นอย่างนั้น โดยเฉพาะท่านที่ไม่ค่อยสนใจปฏิบัติ หรือถนัดแต่รับการปรนนิบัติจากญาติโยม เมื่อบวกเข้ากับกายใจที่ย่ำแย่จากโรคที่รุมเร้า ไม่มีเป้าว่าจะอยู่ไปเพื่อใคร เพื่ออะไร จิตใจก็ว้าเหว่ จึงเรียกร้องความสนใจ แสดงพฤติกรรมที่ไม่น่ารักออกมาได้เช่นกัน

หลวงอารูปหนึ่งที่เราดูแลอยู่น่าจะพอเป็นตัวอย่างเรื่องนี้ได้ ท่านไม่ได้มาสันติภาวันในฐานะผู้ป่วยระยะท้าย แต่เพราะไม่มีใครดูแลแผลกดทับขนาดใหญ่ที่ก้นกบ อาการอย่างอื่นก็ดูไม่มีอะไรน่ากังวล แม้จะถูดตัดขาใต้หัวเข่า และคาสายสวนปัสสาวะไว้ตลอดก็ตาม

แต่เมื่อรับเข้ามาดูแลจริงๆ ไม่ง่ายอย่างที่คิด ท่านเรียกร้องค่อนข้างมาก ต้องช่วยเหลือทุกอย่างแทบไม่ต่างจากผู้ป่วยติดเตียง ท่านไม่พยายามที่จะฝึกหรือฝืนเพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวขึ้น ไม่ช่วยให้พวกเราดูแลง่ายขึ้นเลย เช่น การย้ายจากรถเข็นขึ้นเตียง ท่านจะทิ้งตัว (ใหญ่ๆ) ให้เรายกโดยไม่เคยใช้ขาอีกข้างที่ยังมีแรงช่วยพยุง ท่านไม่ยันตัวนั่งบนเตียงเองจะต้องให้ช่วยประคองขึ้น แม้แต่รถเข็นที่นั่งอยู่ท่านจะไม่หมุนล้อเองเลยแม้ฝนตกใส่ (แต่เราก็แอบเห็นว่าท่านหมุนเองได้)

แน่นอนว่าขาเทียมที่เราขวนขวายรีบทำให้แต่แรก พยายามชวนท่านฝึกเดินในที่สุดท่านก็ไม่ยอมใช้ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องพื้นๆ เช่น อาหารที่ดีต่อสุขภาพก็บอกว่าฉันไม่เป็น ไม่ชอบ เลือกฉันอาหารถูกปากแต่แสลงโรค ครั้นถึงคราวที่ปวดหัว ปวดท้อง เวียนหน้า ท่านจะมีอาการมาก ตัวสั่น หน้าซีดอย่างเห็นได้ชัด แน่นอนว่าท่านปฏิเสธฉีดวัคซีนป้องกันโควิดด้วยเหตุผลสั้นๆ ว่ากลัวเจ็บ

ตั้งแต่ดูแลกันมาปีกว่า พวกเราไม่เคยได้ยินคำว่า “ขอบคุณ” หลุดจากปากท่านเลย แถมบางวันมีต่อว่า ว่าเราดูแลท่านไม่ดีเท่าหลวงตาเตียงโน้น วันดีมีเงิน (จากเบี้ยคนพิการของท่านหรือมีโยมถวายพิเศษ) ท่านก็จะฝากโยมไปซื้อหวย ซื้ออาหารปรุงสำเร็จจากร้านสะดวกซื้อมาฉัน (ทั้งที่อาหารบิณฑบาตที่สันติภาวันสมบูรณ์มาก) แน่นอนว่าเราได้พยายามคุยกับท่านในเรื่องเหล่านี้ แต่เมื่อท่านเฉยเมย เราก็เคารพในความเป็นตัวท่าน

แน่นอนว่าความรู้สึกขัดใจย่อมมีอยู่บ้าง แต่เมื่อยอมรับและเข้าใจว่ามีเหตุปัจจัยอีกมากมายที่หนุนอยู่เบื้องหลังทำให้ท่านมีพฤติกรรมเช่นนี้ เราก็ไม่คิดจะบังคับปรับเปลี่ยนท่าน โกรธท่านไม่ลง แต่กลับรู้สึกสงสารเห็นใจในพฤติกรรมแบบนี้ ยังดีที่ท่านได้มาอยู่กับเราถ้าไปอยู่ที่อื่นคงลำบาก ท่านเองก็คงตระหนักดีเช่นกันเพราะแสดงสีหน้ากังวลทุกครั้งที่เราบอกว่า ถ้าแผลหายแล้วจะให้กลับไปอยู่วัดเดิม

ความหนัก เหนื่อย และน่ารังเกียจในการดูแลผู้ป่วยติดเตียงนั้นเป็นเรื่องธรรมดา แต่ถ้าวางใจไม่ดี มีท่าทีไม่เหมาะสม จะทำให้ผู้ดูแลเครียดและเหนื่อยใจเพิ่มขึ้นทวีคูณ แทนที่จะดูแลกันกลับกลายเป็นฝ่าฟันเพื่อเอาชนะกันให้ได้ แน่นอนว่าผู้ดูแลย่อมถือไพ่เหนือกว่า พร้อมมีเหตุผลสวยหรูว่าทำเพราะปรารถนาดี แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้มีความสุขขึ้นเลย

การที่สันติภาวันมีหลักคิดว่าพระอาพาธทุกรูปคือครูของเรา การดูแลท่านคือการปฏิบัติธรรมของเรา ทำให้เรามองสถานการณ์ใดๆ ที่สร้างความขุ่นมัวหมองใจว่าเป็นโจทย์ให้ได้ฝึกฝนเรียนรู้ ให้ไวต่อใจที่กระเพื่อม ทำให้เราไม่ปฏิเสธอารมณ์ขุ่นมัวเหล่านั้น ใช้เป็นโอกาสนำมาฝึกใจ ช่วยให้เข้าใจธรรมชาติตนเองดีขึ้น

ดังนั้นแทนที่จะพูดว่า “ยังดีที่ดูแลพระ” ต้องเปลี่ยนเป็น “ยังดีที่มีธรรมะ” มาใช้ประคับประคองใจ ไม่ว่าผู้ป่วยแบบไหนใจเราก็จะไม่ทุกข์ ไม่ท้อ ทำงานหนักได้โดยไม่ต้องเหนื่อยใจเพิ่มขึ้น และมีความสุขเป็นของแถม ทั้งสุขที่ได้ช่วยพระที่กำลังทุกข์ และสุขที่เท่าทันกิเลสในใจตนยิ่งขึ้น

ความสุขใจช่วยยืนยันว่าเรากำลังสร้างบุญใหญ่อย่างแท้จริง ถ้าดูแลพ่อแม่แต่จิตใจย่ำแย่อมทุกข์ นอกจากไม่ได้บุญยังอาจขาดทุนมีบาปแถมมาด้วย แน่นอนว่าปัจจัยรายรอบมีผลมาก แต่เมื่อทบทวนดีๆ จะพบว่าปัญหาอยู่ที่ใจตนเป็นหลัก โดยเฉพาะความคาดหวัง ว่าผู้ป่วยควรเป็นแบบนั้น ญาติพี่น้องต้องทำกับเราแบบนี้ ผลจึงเป็นแบบที่พระท่านว่า “ปรารถนาสิ่งใด ไม่ได้สิ่งนั้น นั้นเป็นทุกข์”… ง่ายกว่าเมื่อหันมาปรับที่ “ความปรารถนาของเรา”

พระอาจารย์ไพศาล เทศน์สอนพวกเราบ่อยๆ ว่า “ทำ (เหตุ) เต็มที่ แต่ไม่ซีเรียส (ในผล)” เคล็ดที่ไม่ลับว่าพวกเรายัง “ทำอยู่ได้อย่างไร” ก็แค่ดูแลเต็มที่ แต่ไม่ซีเรียสกับพฤติกรรมพระอาพาธ ใช้ทุกโอกาสเพื่อพัฒนาใจตน

ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านที่ดูแลผู้ป่วยติดเตียง มีโอกาสใช้ธรรมนำใจสร้างบุญใหญ่ไปด้วยกัน