จากการที่ทีมงานสันติภาวัน ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมพระภิกษุในหอผู้ป่วยภิกษุอาพาธโรงพยาบาลชัยภูมิ ทุกๆ วันพุธ มาประมาณ ๒๐ ครั้ง ในช่วง ๕ เดือนที่ผ่านมา นอกจากจะได้นำของเยี่ยมเล็กๆ น้อยๆ ไปถวายภิกษุอาพาธ ได้นำสิ่งของที่จำเป็น เช่น กระดาษชำระ สบู่ ยาสีฟัน ผ้าขนหนู ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ ฯลฯไปมอบไว้กับเจ้าหน้าที่เพื่อใช้กับภิกษุอาพาธที่อาจไม่มีญาติหรือไม่ได้เตรียมสิ่งของมาเพื่อนอนพักรักษาตัวแล้ว ยังได้มีโอกาสไปพูดคุยให้กำลังใจไถ่ถามสุขทุกข์จากความเจ็บป่วยที่แต่ละท่านประสบอยู่ด้วย
การได้เยี่ยมและพูดคุยดังกล่าว ทำให้พบว่าผู้ที่ทำหน้าที่เฝ้าดูแลหลักเมื่อพระอาพาธต้องนอนพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลคือญาติส่วนพระเณรในวัดที่ท่านเคยพำนักอยู่มักมาเยี่ยมเพียงช่วงสั้นๆ แล้วกลับ เว้นแต่จะเป็นเจ้าอาวาสหรือพระผู้ใหญ่ที่มีบารมีจึงจะมีพระ/เณรพักค้างด้วยคอยช่วยดูแล ยิ่งเมื่อต้องรักษาตัวอยู่เป็นเวลานานๆ แล้ว ญาติอาจต้องออกจากงานมาดูแล หรือมิฉะนั้นก็จะถูกปล่อยให้อยู่ที่โรงพยาบาลตามลำพังด้วยเงื่อนไขที่ว่านี้ พระที่ไม่ได้บวชอยู่ที่บ้านเกิด ที่ไม่มีญาติพักอยู่ใกล้ๆ วัด หรือที่วัดไม่มีระบบดูแลพระอาพาธที่ดีพอ เมื่อต้องพักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลเป็นเวลานานมักถูกปล่อยทิ้งขาดผู้ดูแล
แม้เมื่อออกจากโรงพยาบาลแล้ว หากจำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างต่อเนื่องที่วัดเมื่อกลายเป็นผู้พิการ หรือป่วยติดเตียงจนช่วยเหลือตนเองไม่ได้ บทบาทก็ยังคงเป็นของญาติ ดังนั้นการขอร้องให้พระสึกเพื่อสะดวกต่อญาติที่จะนำกลับไปดูแลต่อที่บ้าน จึงเป็นเรื่องที่พระอาพาธปฏิเสธได้ยากเพราะความเกรงใจผู้ดูแล และตนเองก็ขาดอำนาจในการต่อรอง จนต้องสึกหาลาเพศไปแม้ตนเองไม่ประสงค์ก็ตาม
การฟื้นฟูบทบาทของพระเณรในแต่ละวัดให้ใส่ใจดูแลภิกษุอาพาธ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่คณะสงฆ์และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต้องรีบพัฒนาขึ้นอย่างเร่งด่วน เพราะหากแต่ละวัดไม่สามารถสร้างความมั่นคงให้กับพระได้ว่า นี้คือสถานที่ที่ตนจะฝากชีวิตไว้ได้ตราบจนลมหายใจสุดท้ายแล้ว โอกาสที่จะได้พระที่บวชเข้ามาทำงานทุ่มเทให้กับวัดให้กับศาสนาอย่างแท้จริงก็คงไม่มีเช่นกัน