มีบางท่านตั้งข้อสังเกตการจัดพิธีศพส่งหลวงพ่อมานิตของเราที่ผ่านมาว่า ดูจะรวดเร็วรวบรัดเกินไปไหม ท่านมรณภาพไม่ทันไรก็ฌาปนกิจเลย แบบนี้ท่านจะได้บุญน้อยกว่าที่ทำกันตามปกติ เช่น สวด ๓ วัน ๗ วัน หรือเก็บไว้เป็นปีหรือเปล่า

หากตอบตามหลักพุทธฯ สามารถกล่าวได้อย่างเต็มปากว่า การจัดแบบนี้มิได้ทำให้ท่านได้บุญน้อยไปกว่าการจัดพิธีกรรมที่ยืดยาวเลย ถ้าจัดได้ดีวางใจถูกอาจได้บุญมากกว่าด้วย

บุญในพุทธศาสนาเป็นเรื่องของความสุข ความดี ความฉลาด และการชำระล้างกิเลสสิ่งเศร้าหมอง แต่ในพิธีศพทุกวันนี้บรรยากาศมักอบอวลไปด้วยความทุกข์ กังวล เศร้า กลัว ความไม่รู้ และความเชื่อที่ไม่เป็นไปตามหลักธรรม ซึ่งไม่เหมาะต่อการเกิดบุญหรือสร้างกุศลเลย แล้วพิธีกรรมเหล่านี้จะดีต่อผู้จัด และส่งต่อบุญไปให้ผู้ล่วงลับได้อย่างไร

การจะจัดการศพพระอาพาธที่ดูแลอย่างไร เป็นประเด็นหนึ่งที่สันติภาวันให้ความสำคัญและได้เตรียมการไว้ก่อน หากท่านมีอาการหนักมาแต่แรก อย่างหลวงพ่อบุญลือ เราก็จะถามตั้งแต่รับเข้ามาเลยว่า หากท่านมรณภาพจะให้จัดการศพอย่างไร

สำหรับหลวงพ่อมานิต เมื่อเรารู้ผลตรวจก้อนชิ้นเนื้อที่คอว่าเป็นมะเร็งที่กระจายมาจากอวัยวะส่วนอื่น ก็ได้ปรึกษากับญาติท่านที่พะเยาว่า หากท่านมรณภาพลงจะให้จัดการศพอย่างไร ญาติจะมารับกลับไปทำพิธี หรือให้สันติภาวันดูแลทั้งหมด โดยเราจะจัดพิธีศพอย่างเรียบง่ายให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ซึ่งต่อมาญาติได้ให้คำตอบว่าจะให้เราจัดการปลงศพให้ แล้วรับอัฐิไปบำเพ็ญกุศลต่อ

การปลงศพอย่างเรียบง่ายถือเป็นหลักปฏิบัติแบบพุทธ ในครั้งพุทธกาลศพชาวบ้านทั่วไปก็เพียงห่อผ้าแล้วนำไปทิ้งหรือฝังในป่าช้า พระยังได้นำผ้าห่อศพเหล่านั้น มาซักเย็บย้อมทำเป็นจีวรนุ่งห่ม จะมีก็แต่กษัตริย์ เศรษฐี หรือผู้มีอันจะกินเท่านั้นที่จะประกอบพิธีเผา

งานศพทุกวันนี้มีพิธีกรรมเพิ่มขึ้นจนยุ่งยากและสิ้นเปลือง มิใช่เฉพาะส่วนที่ทำเพื่อหน้าตาของคนอยู่หรือแสดงความสำคัญของผู้ตายเท่านั้น แต่ยังมีส่วนที่แม้จะยากจนอย่างไรก็ต้องพยายามทำ “เพราะความกลัว” ทั้งกลัวคนตำหนิ และกลัวว่าผู้ตายจะไม่ได้บุญ หรือไปไม่ดี ต้องมีบังสุกุล สวดอภิธรรม จัดอาหารให้ศพ ต้องจุดตะเกียง/จุดธูปไว้ไม่ให้ดับ เป็นต้น

แน่นอนว่าพุทธศาสนาแนะนำให้เราทำบุญอุทิศแก่ให้ผู้ล่วงลับโดยเฉพาะบุพการีผู้มีพระคุณ แต่การทำบุญในพุทธศาสนามีหลายวิธี ซึ่งไม่จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับการจัดพิธีศพเลยก็ได้ กล่าวคือเราสามารถเผาหรือฝังร่างได้ทันที แล้วค่อยทำบุญ สร้างสิ่งดีๆ อุทิศให้ผู้ตายภายหลัง

ที่สันติภาวันเราต้องการให้งานศพกลับมาสู่ความเรียบง่าย ยิ่งเป็นศพพระสมควรที่จะทำให้เป็นตัวอย่าง ในการฌาปนกิจศพหลวงพ่อมานิต เราจึงจัดขึ้นที่วัดใกล้ๆ หลังจากท่านมรณภาพเพียง ๑๘ ชม. โดยยังพอมีพิธีกรรมอยู่บ้างเพื่อความสบายใจของญาติที่ยังติดตามข้อมูลอยู่ คือ มีสวดอภิธรรม และมาติกาก่อนที่จะฌาปนกิจ แต่กระนั้นเราต้องยอมทำอีกตามประเพณีอีกบางเรื่อง เช่น การสวดหน้าไฟ การแปรธาตุก่อนเก็บอัฐิ รวมทั้งปล่อยให้สัปเหร่อทำตามเคล็ดพิธีในส่วนของเขา

จึงเป็นเรื่องไม่ง่ายเลยสำหรับคนทั่วไปที่จะจัดพิธีศพให้ประหยัดเรียบง่าย เพราะต้องฝืนกระแสและตอบคำถามมากมายกับคนรอบตัว สันติภาวันเองถึงกับคิดไว้ว่าในอนาคตเมื่อมีความพร้อม เราอาจต้องปลงศพเองด้วย อย่างน้อยก็พอได้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งให้สังคมได้รับรู้ถึงสาระของการจัดพิธีศพแบบพุทธ… ที่ต้องได้บุญและเพิ่มพูนปัญญา