ความลำบากใจอย่างหนึ่งในการดูแลผู้ป่วยหนักจะเกิดขึ้นเมื่อต้องตัดสินใจเลือกวิธีการรักษาให้ผู้ป่วย แม้ทุกคนต้องการเลือกวิธีการที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้ผู้ป่วยรอด แต่การเลือกในแบบที่ว่านี้บางทีมิได้มีผลดีต่อใครเลย (ยกเว้นธุรกิจทางการแพทย์) เพราะอาจมีค่าใช้จ่ายสูง (แม้จะไม่ต้องจ่ายเงินเองก็ตาม) สิ้นเปลืองทรัพยากรมาก ทำความลำบากเจ็บปวดกาย หรือทำร้ายจิตใจผู้ป่วยภายหลัง รวมทั้งสร้างปัญหาให้ผู้รับผิดชอบดูแลระยะยาว
ที่สันติภาวันแม้เราจะไม่ต้องตัดสินใจเลือกวิธีรักษามากนัก เพราะคัดกรองกันมาในเบื้องต้นแล้วว่า ท่านเป็นพระที่อาพาธในระยะท้ายมิได้ขวนขวายรักษาเพื่อยืดชีวิต วางใจยอมรับแล้วว่าจะให้ดูแลประคับประคองไปจนกว่าจะสิ้นลม แต่กระนั้นเราก็ยังต้องพบกับความลำบากใจในการตัดสินใจว่าจะให้การรักษาดูแลท่านต่อไปอย่างไรอยู่บ้างเหมือนกัน
กรณีของหลวงพ่อรุ่งเรือง (นามสมมติ) ที่เรารับท่านเข้ามาดูแลเมื่อต้นเดือนมกราคมนี้ก็เช่นกัน โรงพยาบาลแจ้งมาว่าท่านอยู่ในสภาวะไตวายระยะสุดท้าย ผ่านกระบวนการพูดคุยกับผู้ป่วยและญาติแล้วว่าจะไม่ทำการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมเพราะสู้ค่าใช้จ่ายไม่ไหว และจะไม่ล้างไตทางช่องท้องเพราะไม่มีผู้ดูแลท่านอย่างต่อเนื่องได้ ขณะนี้จึงทำได้เพียงให้ยาขับปัสสาวะขนาดสูงไปจนกว่าไตจะหยุดทำงาน จากนั้นร่างกายจะสะสมสารพิษและนำไปสู่การเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งหมายถึงว่าเราจะรับหน้าที่ดูแลท่านไปจนถึงช่วงสุดท้ายที่ว่านั้น
แต่ปัญหาคือเมื่อเราได้พบท่าน ร่างกายท่านยังอยู่ในสภาพดีมาก แม้จะดูอ่อนเพลียเพราะนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลมานาน แต่ท่านก็ยังมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ยังพอเดินเหินช่วยเหลือตัวเองได้ ผิวไม่ดำ เท้าไม่บวม ปัสสาวะยังเหลืองใสเหมือนคนปกติ แถมยังคุยสนุกด้วยสำเนียงเหน่อๆ ตามแบบพื้นเพคนสุพรรณฯ
ทำถามที่เกิดขึ้นในใจตอนนั้นคือ จะปล่อยให้ท่านแย่ลงจนมรณภาพไป ทั้งๆ ที่ยังพอมีวิธีช่วยท่านได้อย่างนั้นหรือ เนื่องจากท่านยังมีนัดไปรับยาในเดือนถัดไป เราจึงขอร้องให้พยาบาลที่มาส่งท่าน ติดต่อกับหน่วยโรคไตของโรงพยาบาลประเมินท่านอีกครั้ง หากได้ล้างไตทางช่องท้องตามสิทธิบัตรทองแล้วท่านจะแข็งแรงดีใช้ชีวิตตามปกติได้ เรายินดีที่จะทำหน้าที่เปลี่ยนน้ำยาล้างไตให้ท่าน
แต่เคราะห์กรรมของท่านยังไม่หมด ค่ำวันแรกที่รับท่านไว้นั่นเอง เราพบว่าท่านตัวอุ่นๆ มีไข้ จึงให้ฉันทั้งยาลดไข้ และยาปฏิชีวะ วันต่อมาไข้ก็ยังคงสูงอยู่และอาการโดยรวมไม่ดี จึงติดต่อขอให้ญาตินำท่านไปตรวจในวันรุ่งขึ้น ในที่สุดโรงพยาบาลก็ได้รับตัวท่านไว้ดูอาการ และทราบว่าภายหลังว่าได้ถูกส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลศูนย์เพราะติดเชื้อในกระแสเลือด
หลังจากอยู่โรงพยาบาลเกือบ ๒๐ วัน ท่านกลับมาพร้อมกับยาถุงใหญ่ คราวนี้ดูอ่อนล้ากว่าเดิมมาก ฉันอาหารได้น้อยมาก มีหลายครั้งที่อาเจียนหลังจากฉัน ท่านใช้เวลาส่วนใหญ่กับการนอนแบบไม่อยากลุกขึ้นนั่ง ไม่ต้องพูดถึงการยืนหรือเดิน (ทั้งๆ ที่น่าจะยังพอทำได้) ท่านยังดูเหนื่อยหนายท้อแท้ และบ่นเป็นห่วงลูกหลานแม้จะบวชมานานถึง ๓๖ ปีแล้วก็ตาม
สภาพร่างกายและจิตใจของท่านในวันนี้ ทำให้ความมั่นใจของเราที่จะอาสาช่วยเปลี่ยนน้ำยาล้างไตให้ท่านเริ่มจางลง เพราะการจะเลือกให้ท่านรอดแต่ชีวิตต้องจมอยู่กับความอับเฉาอมทุกข์เป็นผู้ป่วยติดเตียงไปตลอด โดยที่เราเองก็มีภาระเพิ่มขึ้นในการเปลี่ยนน้ำยาล้างไต (ซึ่งต้องทำด้วยความสะอาดประณีต บันทึก/สังเกตปริมาณน้ำเข้า-ออกร่างกายทุกครั้ง ต้องทำให้ตรงเวลาวันละ ๔-๕ ครั้ง ไปตลอดชีวิต) ย่อมไม่มีผลดีกับใครเลย
อย่างไรก็ตามการเข้าโรงพยาบาลครั้งนี้ทำให้วันนัดถูกเลื่อนออกไปอีก ๑ เดือน เราจึงยังพอมีเวลารอดูความเปลี่ยนแปลง และไตร่ตรองก่อนตัดสินใจอีก หากร่างกายจิตใจของท่านไม่มีทีท่าว่าจะกลับมาเข้มแข็งได้อีก การล้างไตทางช่องท้องก็อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดีทั้งต่อตัวท่าน ต่อเราผู้ดูแล หรือแม้แต่ลูกหลานและญาติท่านเอง
แน่นอนว่าพุทธศาสนาให้ความสำคัญต่อการบำบัดโรคและรักษาชีวิตของผู้ป่วย แต่เป้าหมายมิใช่เพียงแค่ยืดเวลาตายออกไปเท่านั้น หากมุ่งทำเพื่อให้มีโอกาสเพิ่มขึ้นในการใช้ชีวิตอย่างสงบเย็นและเป็นประโยชน์ (ต่อตนเองและผู้อื่น) โดยท่านถือว่าแม้อยู่เพิ่มขึ้นอีกเพียงราตรีเดียวก็ยังน่าชื่นชม
ช่วงเวลานี้นอกจากจะช่วยกันประคับคองร่างกายท่านให้แข็งแรงขึ้นแล้ว เรายังต้องชวนท่านพูดคุยหาทางปลดล็อคความกังวลและภาระต่างๆ สร้างความสงบเย็นให้จิตใจให้เกิดขึ้นเท่าที่จะทำได้ ก่อนที่ต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญอีกครั้ง