การดูแลผู้ป่วยติดเตียง ผู้ดูแลต้องช่วยเหลือผู้ป่วยในแทบทุกเรื่องตั้งแต่กิน ถ่าย ไปจนกระทั้งทำแผล และบริหารร่างกาย ถือเป็นงานที่หนัก เหนื่อย และมักจบลงที่ความสูญเสีย แต่ผู้ดูแลจะเหนื่อยเพิ่มขึ้นอีกมาก หากต้องรองรับอารมณ์อันฉุนเฉียวเกรี้ยวกราดหรือมึนตึงของผู้ป่วยด้วย 

ผู้ป่วยบางรายอาจพูดทำร้ายจิตใจ หรือถึงขั้นถึงกับลงมือลงไม้กับผู้ที่กำลังช่วยเหลือเขาอยู่ หากผู้ดูแลปฏิบัติตัวหรือวางใจไม่ถูก ก็อาจเกิดบาดแผลติดค้างใจไปตลอดชีวิต ว่าเคยพูดร้าย/ทำร้ายบุพการี อาจถูกดำเนินคดี หรือถูกสังคมตีตราว่าเป็นคนเหี้ยมโหดก็ได้

หลวงพ่อคงศักดิ์ (นามสมมติ) ท่านได้เข้ามาเป็นครูของพวกเราในเรื่องนี้ ท่านเป็นพระมหาเถระวัย ๗๔ ปี ที่บวชมานานถึง ๔๓ พรรษา มากที่สุดเท่าที่เราเคยดูแลมา ท่านมาด้วยอาการอัมพาตซีกซ้ายที่เป็นมาแล้ว ๘ ปี จนข้อขาติดแข็งเกร็ง นอนติดเตียงช่วยเหลือตัวเองได้น้อย

โยมที่มาส่งให้ข้อมูลว่า ท่านมีอาการลมชัก ยังคงต้องฉันยากันชักอยู่เป็นประจำ แม้ไม่ชักมาประมาณ ๒ ปีแล้ว แต่ในอดีตท่านเคยชักนานจนคาดว่าสมองบางส่วนถูกทำลาย ทำให้สติสัมปชัญญะท่านไม่สมบูรณ์นัก 

เรามักเห็นท่านนั่งหลับตาส่ายหน้าอยู่นานๆ แม้จะพูดคุยโต้ตอบได้บ้างสั้นๆ แต่ก็ไม่ประติดประต่อ มีความทรงจำเก่าๆ เรื่องอาหาร สถานที่ ถูกดึงเข้ามาเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน บางครั้งก็อ้างตัวว่าเป็นโอรสกษัตริย์ในอดีต

เมื่อมีสิ่งที่ไม่ถูกใจ รู้สึกเจ็บ หรือรำคาญ เช่น ยกตัวไม่ถูกท่า ป้อนอาหารที่ไม่ถูกใจ ช้อนไปกระทบเหงือก หรือแม้แต่กลืนยาไม่ลง ท่านจะกัดฟันหลับตาร้อง “อี๊” เกร็งมือ หลุดสบถคำด่า คำหยาบ รวมทั้งใช้กำลังทั้งเขกหัว ชกตามตัว ใช้เล็บจิก หรือกัดพระที่กำลังดูแลท่าน

ทัศนะในแง่ลบต่างๆ ที่ฝังอยู่ในใจท่าน มักถูกเผยออกมาในช่วงนี้ เช่น ท่านฉันข้าวต้มแล้วเคี้ยวถูกเปลือกกุ้งที่ติดอยู่เล็กน้อย อารมณ์ท่านจะขึ้นแล้วหาว่าเราแอบกินเนื้อกุ้งหมดเหลือแต่เปลือกให้ท่านฉัน บางครั้งก็หาว่าเราแกล้งเอาเปลือกกล้วยป้อนท่าน

ช่วงแรกทำเอาผู้ดูแลเกร็งไปตามๆ กัน รู้สึกหวั่นอยู่ทุกครั้งที่ต้องอุ้มท่านจากรถเข็นขึ้นเตียง เพราะไม่แน่ใจว่าท่านจะเคืองขาดสติเกร็งตัวกัดลงมาที่ไหล่หรือซอกคอคนที่กำลังอุ้มเมื่อไหร่ 

แต่ด้วยตระหนักว่าท่านทำไปด้วยความขาดสติ ควบคุมตัวเองไม่ได้ ไม่มีเจตนาที่จะทำร้ายเราจริงๆ เพราะยามที่ท่านรู้ตัวดีก็จะกล่าวขอบคุณที่ช่วยดูแลอยู่เป็นครั้งคราว จึงไม่มีใครถือโทษหรือโต้ตอบท่าน กลับรู้สึกสงสาร แล้วมองย้อนกลับมาถามตัวเองว่า เรามั่นใจได้แค่ไหนว่าอาการเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นกับเราในอนาคต

หลวงพ่อคงศักดิ์อยู่กับเราได้ประมาณครึ่งเดือนแล้ว ตอนนี้เราพอ “รู้ทาง” แล้วว่าจะดูแลท่านอย่างไร พูดกับท่านอย่างไร และป้องกันตัวเองอย่างไร ทำอย่างไรให้สติท่านที่หลุดไปกลับมาได้ไวที่สุด ท่านจึงเป็นเสมือนครูที่มาเติมความรู้ในด้านที่เรายังขาดประสบการณ์ให้สมบูรณ์ขึ้น เราได้เรียนรู้หลายอย่างจากการดูแลท่าน

เรื่องที่เกิดกับเราที่ว่านี่ เทียบไม่ได้เลยความทุกข์ของลูกที่ถูกพ่อแม่ป่วยติดเตียงแต่ยังมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ทำร้ายจิตใจด้วยการเฉยเมย ด่า กลั่นแกล้ง หรืออาจถึงขั้นทำร้ายร่างกาย ในขณะที่ตนก็ทุ่มเทดูแลท่านอย่างเต็มที่

ประสบการณ์อันน้อยนิดที่เราพอจะแบ่งปันแก่ผู้ดูแลที่ถูกกระทำได้ในที่นี้คือ แทนที่จะมัวโกรธ น้อยใจ หรือหาทางเอาชนะท่าน ลองเปลี่ยนมุมมองเป็นสงสารท่าน ท่านก็คงทุกข์น่าดูจากการมีความคิดเช่นนั้นครองใจ ยิ่งอยู่ในช่วงท้ายแห่งชีวิตแล้วก็ยิ่งน่าสงสาร

แล้วใช้โอกาสนี้หันกลับมาดูแลตัวเอง สัญญากับตัวเองว่าเราจะไม่เป็นแบบนี้ เราจะระวังกายใจไม่เผลอทำร้ายคนที่ช่วยเหลือดูแลเราเด็ดขาด

โจทย์ชีวิตที่ยาก หากแก้ได้ เราจะได้บทเรียนอันยิ่งใหญ่มาช่วยให้ชีวิตนี้ทุกข์น้อยลง..