การต้องรับหน้าที่ดูแลผู้ป่วยติดเตียงอยู่ผู้เดียว ทั้งๆ ที่ยังพอมีคนอื่นที่ช่วยแบ่งเบาภาระได้แต่เขาไม่มาช่วย มักทำให้ผู้ดูแลคนนั้นรู้สึกแย่ ไม่ยุติธรรม เหมือนถูกกลั่นแกล้ง ทำให้งานที่เหนื่อยอยู่แล้วยิ่งดูหนักขึ้นมาก

มีชาวพุทธไม่น้อยมองเหตุการณ์ลักษณะนี้ว่าเป็นกรรมเก่าของผู้ดูแลคนนั้นที่เขาต้องชดใช้ แม้ที่สันติภาวันเองก็เช่นกัน มีพระและโยมบางท่านมองว่าที่พวกเราต้องมาดูแลพระอาพาธ ทั้งที่ไม่ใช่ญาติไม่เคยรู้จักกันมาก่อนอยู่นี้ ก็เพราะอกุศลกรรมวิบากที่เคยทำไว้ในอดีตชาติ

แม้ความเห็นแบบนี้ไม่ได้มีผลอะไรต่อพวกเรานัก แต่ก็อดเป็นห่วงคนที่กำลังดูแลผู้ป่วยหนักอยู่ที่บ้านไม่ได้ และในภาพรวมของทั้งสังคมก็คงบั่นทอนกำลังใจคนที่เสียสละอุทิศตนอาสาทำงานยากๆ ไม่น้อย

การมองว่าอะไรๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตล้วนเป็นผลของกรรมเก่านั้น เป็นความเชื่อที่มีมาก่อนพุทธศาสนา และจัดว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ แม้พุทธจะเชื่อในหลักกรรมเช่นกัน แต่เราเชื่อว่ายังมีปัจจัยอื่นๆ อีกที่เข้ามามีผลต่อเรื่องนั้นด้วย

กรรมในพุทธศาสนามิได้มุ่งให้คนจำนนรอรับผลของกรรมเก่า ทั้งนี้เพราะมนุษย์มีศักยภาพเหนือกว่าสัตว์โลกอื่นๆ ที่สามารถสร้างกรรมใหม่และใช้กรรมเก่าให้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชีวิตได้ กรรมในพุทธศาสนายังจะต้องเกื้อหนุนคุณธรรมข้ออื่นไม่ว่า เมตตา การเสียสละ การอุทิศตนทำความดี และไม่ขัดหลักบำเพ็ญบารมีอีกด้วย

หลายๆ ครั้งเรื่องกรรมเก่าถูกยกขึ้นมาใช้ตัดสินผู้อื่น เพียงเพื่อความชอบธรรมที่ตนไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือ/ร่วมมือทำสิ่งที่ยาก ซึ่งมักเป็นแค่ข้ออ้างของกิเลสเท่านั้น เพราะยามที่เขาลำบากขึ้นมาบ้าง มักจะเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากผู้คนโดยไม่คิดว่าตนชดใช้กรรมเก่าอยู่

การมองเรื่องร้ายๆ ในชีวิตว่าเป็นผลจากกรรมเก่าแม้จะมีประโยชน์อยู่บ้าง ที่ช่วยให้วางใจยอมรับกฎธรรมชาติที่มนุษย์ไม่สามารถฝืนได้ แต่ควรใช้หลังจากพยายามลงมือแก้ไขเรื่องนั้นๆ ด้วยสติปัญญาอย่างเต็มที่แล้วเท่านั้น

ในยามที่ต้องรับภาระหนักในชีวิต ควรเริ่มด้วยการตั้งสติพิจารณาสิ่งที่ทำอยู่ด้วยใจเป็นกลาง ซึ่งหลายคนพบว่าภาระที่ทำอยู่จริงๆ นั้น แม้จะเหนื่อย หนัก อาจถูกผู้ป่วยดุ ด่า ทำร้าย แต่ก็เพราะเขาป่วยจึงเป็นแบบนั้น ทำให้ยอมรับได้ไม่ยากนัก แต่ความคิดซ้ำๆ ที่ว่าเรื่องนี้ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นธรรม เรากำลังถูกกลั่นแกล้งต่างหากที่ทำให้ทุกข์ท้อจนแทบหมดแรงทำไม่ไหว

การจะเปลี่ยนความคิดหรือท่าทีของคนอื่นนั้นเป็นไปได้ยาก แต่ถ้าเราย้อนมาปรับมุมมองเราที่มีต่อผู้อื่นหรือต่อสิ่งที่กำลังทำนั้น ทำได้ง่ายและมีประโยชน์กว่ามาก พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล เทศน์สอนพวกเราอยู่เสมอว่า “อะไรเกิดขึ้นกับเรา ไม่สำคัญเท่ากับว่าเรามีท่าทีต่อสิ่งนั้นอย่างไร”

การปรับท่าทีต่อการดูแลผู้ป่วยซึ่งเป็นงานที่มีคุณค่าอยู่แล้วนั้นยิ่งทำได้ง่าย การได้ดูแลพ่อแม่ที่ป่วยติดเตียงถือเป็นบุญทั้งของเราและท่าน ที่ท่านไม่ด่วนจากเราไปแบบปุบปับฉับพลัน เปิดโอกาสให้เราได้ดูแลตอบแทนพระคุณท่าน การได้ดูแลใกล้ชิดก็ทำให้มั่นใจว่าท่านได้รับสิ่งที่ดีที่สุด ถ้าคนอื่นมาดูแลคงทำไม่ได้แบบเรา มีคนอีกมากที่อยากดูแลพ่อแม่แต่ก็ทำไม่ได้ ส่วนเราได้รับโอกาสพิเศษนี้แล้วจึงควรทำด้วยความสุข ขณะที่ดูแลก็ยังเป็นโอกาสให้เราได้สัมผัสสัจธรรมของชีวิต ได้ฝึกจิตปฏิบัติธรรมอยู่ทุกวันด้วย

ครูบาอาจารย์ท่านว่า “เพราะทุกข์จึงพบธรรม” ไหนๆ ก็ต้องสละแรงกายแรงใจทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยติดเตียงแล้ว แทนที่จะให้คำพูดคนอื่นมาทำให้เราเหนื่อยและหนักยิ่งขึ้น จะไม่ดีกว่าหรือถ้าเราปรับมุมมอง เปลี่ยนท่าทีรับภาระนี้อย่างเต็มใจ ให้ทำได้อย่างมีความสุข

ถึงแม้จะเป็นกรรมเก่า แต่ถ้าเราใช้ปัญญามองให้เห็นคุณค่า พบประโยชน์จากสิ่งที่ทำ ก็เป็นการสร้างบุญใหญ่นำความอิ่มใจมาให้ได้เช่นกัน