ผู้ที่เคยดูแลผู้ป่วยระยะท้ายติดเตียงมาก่อนย่อมตระหนักดีกว่า ภาระนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ไหนจะต้องปลีกเวลาส่วนตัว วางงานประจำมาทำหน้าที่นี้ ไหนจะมีความซับซ้อนยุ่งยากให้การดูแลกายที่ไร้สมรรถภาพทั้งต้องรองรับอารมณ์อันแปรปรวนของผู้ป่วยที่แย่ลงเรื่อยๆ ตามความรุนแรงของโรคที่เพิ่มขึ้นยิ่งถ้าผู้ป่วยไม่ใช่ญาติแถมไม่ได้เงินหรือผลประโยชน์อื่นใดในการดูแลด้วยแล้ว ความหนักใจ น่าเบื่อ น่ารังเกียจเมื่อต้องทำงานนี้ย่อมเกิดขึ้นได้ไม่ยาก

ถึงผู้ป่วยจะเป็นพระ หากผู้ดูแลซึ่งก็เป็นพระวางใจไม่ถูกความรู้สึกแย่ๆ ดังกล่าวย่อมเกิดขึ้นได้ไม่ต่างกันเลยดังนั้นจึงเข้าใจได้ไม่ยากว่าทำไมบางวัดจึงปฏิเสธกับโรงพยาบาลว่าไม่ขอรับพระอาพาธติดเตียงไปดูแลต่อ โดยผลักภาระนี้ให้ญาตินำกลับไปบ้านทั้งที่ตัวท่านก็ไม่อยากไป

ความหนักหนาในการดูแลผู้ป่วยนั้นความจริงมิได้ขึ้นกับอาการของโรคหรือเทคนิคการดูแลนัก ส่วนสำคัญนั้นอยู่ที่ “ใจ” ของทั้งคนไข้และผู้ดูแลมากกว่า

หากผู้ป่วยเข้าใจ/เห็นใจในความยากลำบากของผู้ดูแล เขาก็จะพยายามทำตัวให้เป็นภาระน้อยที่สุดจะไม่แสดงอาการหงุดหงิดรำคาญ ไม่วีน ไม่ดุด่าเมื่อผู้ดูแลทำไม่ถูกใจหากมีข้อผิดพลาดเรื่องใดก็อภัยกันได้ไม่ยากแถมยังพูดขอบคุณชื่นชมผู้ดูแลด้วย บรรยากาศเช่นนี้ก็จะทำให้การดูแลเป็นไปอย่างอบอุ่นราบรื่น

ฝ่ายผู้ดูแลนั้นหากใจรู้สึกว่าผู้ป่วยคือภาระที่มาขัดความสุขในชีวิตที่ทำเพราะคำสั่งผู้ใหญ่หรือเป็นหน้าที่มีค่าจ้างก็จะรู้สึกแย่ ทำแค่ขอให้เสร็จๆ ไป ใจขุ่นมัวอยู่ตลอดช่วงที่ดูแล ยิ่งหากต้องเช็ดขี้ เทเยี่ยว ทำแผลเน่าๆ ด้วยแล้ว ช่วงเวลานั้นย่อมไม่ต่างจากนรกขุมเล็กๆ ที่อยากจะรีบหนีออกมาโดยเร็ว

ในทางตรงกันข้าม หากใจรับรู้ว่านี่คือช่วงเวลาดีๆ ที่จะได้เรียนรู้ความเป็นไปของชีวิต เป็นโอกาสที่จะช่วยปลดเปลื้องความทุกข์ครั้งสำคัญของคนคนหนึ่งลง ยิ่งถ้าผู้ป่วยเป็นญาติ เป็นผู้มีพระคุณต่อเราด้วยแล้ว นี่คือโอกาสสำคัญที่เราจะได้ตอบแทนพระคุณในช่วงที่ท่านลำบากจริงๆ การมองเช่นนี้ก็จะทำให้จังหวะนี้คือห้วงเวลาแห่งบุญกุศล

การได้ดูแลหลวงพ่อทองมาเกือบเดือน ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่งดงามของพวกเรา แม้การเจ็บป่วยของท่านจะจัดเข้าอยู่ในเกณฑ์ผู้ป่วยระยะท้ายเพราะอาการมีแต่จะทรุดลงจนเสียชีวิตในที่สุด ถึงท่านจะเดินไม่ได้ เคลื่อนไหวกายลำบากแม้ตักอาหารฉันเองก็ยังทำไม่ได้ แต่โดยรวมก็ถือว่าสภาพร่างกายของท่านยังดี ไม่มีแผล ไม่เจ็บปวด ไม่มีการติดเชื้อที่จะแพร่กระจายสู้ผู้ดูแลได้ที่สำคัญคือท่านยังมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ และเป็นคนไข้ที่ห่วงใยผู้ดูแลมากๆ

การเป็นคนจิตใจดี ยิ้มง่าย ขี้เกรงใจ และคุยเก่ง ลองได้แหย่ให้ท่านเล่าเรื่องการเดินธุดงค์ ประสบการณ์ในการปฏิบัติธรรมหรือชีวิตในอดีตของท่าน ก็เตรียมหาเก้าอี้นั่งฟังกันยาวไปได้เลย

แม้ท่านจะไม่ใช่ญาติของพวกเรา แต่ในฐานะที่เป็นพระเป็นศิษย์พระสมณโคดมเหมือนกัน เป็นพระผู้ใหญ่วัยคราวพ่อบวกกับความคิดพื้นฐานของเราที่มองว่าการดูแลท่านมิใช่แค่ได้ทำตามคำสั่งของพระพุทธองค์เท่านั้นแต่ยังเป็นโอกาสให้เราได้ปฏิบัติธรรม ได้เรียนรู้ธรรมชาติความเป็นไปของชีวิต เป็นโอกาสในการบ่มเพาะความกรุณา รู้สึกเห็นใจที่ท่านกำลังรับทุกขเวทนาก็ยิ่งทำให้รู้สึกว่าการที่ได้ดูแลหลวงพ่อทองนั้น เป็นความสุข ความอิ่มเอมใจ ได้พัฒนาตน และเป็นกำลังใจให้เราเห็นคุณค่าที่จะได้เรียนรู้และปรับปรุงวิธีดูแลให้ดียิ่งขึ้นไปอีก

ก็ยังหวังว่าในอนาคตเมื่อมีพระอาพาธมีอาการทางกายที่ซับซ้อนกว่านี้ มีจิตใจอารมณ์ที่สับสนขุ่นมัวมาให้พวกเราดูแล เราจะยังคงทำงานนี้ได้อย่างเห็นคุณค่าและมีความสุขต่อไป เพราะนั่นแสดงถึงความก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่งในการปฏิบัติธรรมของพวกเรา