เราชาวพุทธเมื่อเห็นพระไปอาศัยอยู่บ้านโยมนานๆ ไม่กลับไปอยู่ที่วัด ย่อมไม่สบายใจ รู้สึกว่าเป็นเรื่องผิดปกติ ไม่ถูกต้อง อาจมีการร้องเรียน ถ่ายภาพแชร์ลงสื่อโซเชียล จนถึงทำข่าวแฉกันทางโทรทัศน์ ถามหาความถูกต้อง เรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องมาจัดการพระรูปนั้น

แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ถ้าพระที่อยู่บ้านนั้น เป็นพระอาพาธนอนติดเตียงช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ผู้คนที่รับรู้ กลับรับได้ เห็นเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ให้ค่าว่าสำคัญ แม้จะมีแต่ผู้หญิงดูแลไม่ว่าแม่ อดีตสีกา หรือว่าลูกสาว เป็นผู้ป้อนข้าว สรงน้ำ เปลี่ยนผ้า หายาป้อนก็ตาม
เรื่องแบบนี้ไม่เคยเป็นข่าวออกสื่อ ไม่มีการเรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบ ไม่เคยมีพระอาพาธที่อยู่บ้านถูกลงโทษ จับสึก ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องไม่ถูกต้องเช่นกัน

ที่สำคัญคือ ญาติมักเป็นฝ่ายที่ถูกทางวัดเรียกร้องให้รับพระอาพาธกลับไปดูแล สร้างความหนักใจ เป็นภาระ และเดือดร้อนทุกคนในครอบครัว แต่ก็ยากที่จะปฏิเสธ บางครอบครัวถึงกับแตกแยกเพราะแบกภาระไม่ไหว

สันติภาวันรับพระอาพาธระยะท้ายหลายรูปมาจากบ้าน แทบทั้งหมดบอกว่าโยมดูแลต่อไม่ไหวแล้ว บางคนต้องออกจากงานประจำเพื่อมาดูแลพระน้อง บ้างก็แก่/ป่วยจนดูแลท่านต่อไม่ไหวเพราะเป็นแม่เป็นพี่สาวของพระ บางคนมีนัดต้องเข้าผ่าตัดแต่ก็ห่วงพระไม่รู้ใครจะมาดูแลแทน ฯลฯ

ที่แน่ๆ เกือบทุกครอบครัวมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่าย หรือแม้กระทั่งไม่มีที่หลับที่นอนเพราะอยู่กันในห้องเช่าเล็กๆ ก็มี

รายล่าสุดที่ติดต่อเราเข้ามา เธอเป็นหญิงสาวตัวคนเดียวที่ต้องดิ้นรนทำงานหาเลี้ยงชีวิต ขณะเดียวกันเธอก็เป็นทั้งลูกคนเดียว และญาติเพียงคนเดียวของหลวงพ่อที่อาพาธติดเตียงนอนให้อาหารทางสายยาง เมื่อต้องออกจากโรงพยาบาล แน่นอนว่าทางวัดแจ้งว่าไม่มีผู้ดูแล ภาระทั้งหมดจึงตกเป็นของเธอเพียงผู้เดียว

เธอตัดสินใจส่งหลวงพ่อไปอยู่เนอร์สเซอรีที่ดูแลผู้สูงอายุ ค่าใช้จ่ายเดือนละ ๒๕,๐๐๐ บาท ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก ๒-๓ พันบาทต่อเดือน ตอนนี้หลวงพ่ออยู่เนอร์สเซอรีมา ๖ เดือนแล้ว เธอบอกกับเราด้วยน้ำเสียงสั่นเครือว่า เงินเก็บหนูทั้งหมดไม่เหลือแล้ว และหนี้สิ้นก็พอกพูนขึ้นทุกวัน “หนูจะไม่ไหวแล้วค่ะ”

ยังไม่ต้องพิจารณาในประเด็นที่ว่าเนอร์สเซอรีที่ดูแลผู้สูงอายุทั่วไป จะเหมาะสมเพียงใดในการดูแลพระอาพาธ

ประเด็นสำคัญกว่าขณะนี้คือ เราจะปล่อยให้วัดซึ่งมีทั้งความรับผิดชอบโดยตรงต่อพระอาพาธและมีทรัพยากรที่มากกว่า ผลักภาระการดูแลกลับไปให้ครอบครัว โดยสังคมก็มองเห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดากันอยู่ต่อไปอีกหรือ

แต่ขณะเดียวกันการจะโยนภาระเรื่องพระอาพาธทั้งหมดกลับไปที่วัดดื้อๆ โดยไม่จัดระบบรองรับก็ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ โดยเฉพาะวัดขนาดเล็กในเขตชนบท

การเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งพระผู้ใหญ่ในคณะสงฆ์ คนในแวดวงสุขภาพ ฝ่ายปกครองในท้องถิ่น รวมทั้งพวกเราชาวพุทธทุกคน ที่จะต้องลงมือช่วยกันในทันทีในจุดที่ตัวเองพอทำได้

สันติภาวันแม้เราจะเป็นเพียงจุดเล็กๆ ที่มีกำลังคนและทรัพยากรจำกัด แต่กระนั้นเราขอปวารณาตัวว่า หากวัดใด ครอบครัวใด ที่กำลังดูแลพระอาพาธติดเตียงอยู่ด้วยความยากลำบาก สามารถติดต่อมาหาเราได้ อย่างน้อยก็พอมีสิ่งของแบ่งปันกันใช้ มีกำลังใจ และประสบการณ์ในการดูแลพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนแนะนำ

ว่าแต่ท่านที่อ่านมาถึงตรงนี้ คุณคิดว่าจะลงมือทำสิ่งดีๆ ต่อเรื่องนี้กันอย่างไร?