วันนี้สันติภาวันพร้อมแล้วที่จะให้การดูแลพุทธสาวิกา (ภิกษุณี, สามเณรี และแม่ชี) ที่ป่วยในระยะท้าย โดยเริ่มต้นที่ ๒ เตียงก่อน (หากจำเป็นเพิ่มได้อีก ๒ เตียง) และเมื่ออาคารดูแลพระอาพาธหลังใหม่เรียบร้อย สามารถเพิ่มเตียงในห้องโถงที่ปัจจุบันใช้เป็นพื้นที่รับรองได้อีก ๔ เตียง

ต้องขออนุโมทนาโยมสุมานี และโยมวิจิตร แดงกุล ที่ได้มอบอาคารหลังนี้ (และอาคารดูแลพระอาพาธ) ให้มาพร้อมกับพื้นที่ เราจึงปรับปรุงมาใช้เพื่อกิจอันเป็นกุศลนี้ได้ทันที

ส่วนผู้ที่มีใจกรุณาต่อพุทธสาวิกาอาพาธ พอรู้ข่าวก็อาสาเข้ามาเป็นทีมดูแลหลัก มาช่วยจัดระบบ และจัดเตรียมสถานที่รองรับให้เรียบร้อยอย่างรวดเร็ว

รวมทั้งผู้มีจิตศรัทธาอีกหลายท่าน ที่ทยอยส่งอุปกรณ์สิ่งของเข้ามาเพื่อให้สันติภาวันใช้ดูแลพระอาพาธ ทำให้เรานำมาปรับใช้เพื่อการดูแลนักบวชหญิงได้ทันที

หลักเกณฑ์ในการรับพุทธสาวิกามาดูแลไม่ต่างจากฝ่ายภิกษุอาพาธนัก กล่าวคือ ๑) ต้องป่วยในระยะท้าย คือมีโรคลุกลามที่จะทำให้เสียชีวิตภายใน ๑ ปี, ๒) ต้องปลงใจไม่รักษาต่อ เพราะมีหลายท่านแม้เป็นโรคร้าย แต่ยังขวนขวายอยากหาย อยากได้รับการรักษาที่ดีที่สุด ซึ่งเราไม่มีกำลังพอที่จะช่วยท่านในส่วนนี้ได้

ข้อ ๓) ท่านยินดี/เต็มใจที่จะไปอยู่สันติภาวัน มิใช่คนรอบข้างผลักไสนำมาทิ้ง หรือยังมีภาระคั่งค้างอยู่ที่วัด/ที่สำนักยังละวางไม่ได้, และ ๔) ต้องอยู่ในสภาพที่เราดูแลได้ เช่น ไม่มีอาการทางจิต ก้าวร้าว คุมตัวเองไม่ได้ ที่อาจทำให้ผู้ป่วยท่านอื่นเดือดร้อนไปด้วย

อย่างไรก็ตามสำหรับแม่ชี ทีมผู้ดูแลเห็นว่าควรมีเงื่อนไขเพิ่มขึ้นอีกข้อหนึ่ง คือ ขอรับผู้ที่บวชและออกจากเรือนมาแล้วอย่างน้อย ๕ ปี เนื่องจากแม่ชีนั้นบวชได้ง่ายและมีบางรายยังอาศัยอยู่กับครอบครัว ด้วยความจำกัดของทรัพยากร เราจึงขอรับเฉพาะท่านที่ปฏิบัติและทุ่มเทช่วยงานพระศาสนาอย่างจริงจังก่อน

ท่านที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์และประสงค์จะให้สันติภาวันดูแล สามารถโทรศัพท์ติดต่อสอบถามได้ที่หมายเลขกลางของสันติภาวัน ๐๘๑ ๔๙๑ ๖๕๗๕ ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

สำหรับจิตอาสาที่ตั้งใจมาปฏิบัติธรรมผ่านการดูแลพุทธสาวิกา จะแบ่งเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่มแรกเป็นทีมงานหลัก ซึ่งต้องมีเวลา และมีใจ (ถ้ามีความรู้/ประสบการณ์ในการดูแลเบื้องต้นด้วยยิ่งดี) จะต้องอยู่ประจำหรือพร้อมแตะมือสลับกันอยู่ดูแลอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันมีผู้อาสาเป็นกลุ่มหลักแล้ว ๕ ท่าน (ในระดับความพร้อมที่ต่างกัน) มีทั้งพยาบาล ผู้มีประสบการณ์ดูแลพ่อแม่ติดเตียง แม่ชี และนักบวชวัชรญาณ ทุกท่านมาด้วยใจเต็มร้อย

แบบที่สองคือผู้ที่อาสาเข้ามาเรียนรู้ช่วยเหลือเป็นครั้งคราว ควรมีเวลาอยู่ช่วยงานได้ไม่ต่ำกว่า ๑ สัปดาห์ เมื่อมีผู้ป่วยมาให้ดูแลแล้ว เราจะแจ้งข่าวการเปิดรับจิตอาสาส่วนนี้ให้ทราบอีกครั้ง

เราหวังว่ากิจกรรมใหม่ของสันติภาวันนี้ จะเป็นแรงบันดาลใจ เป็นตัวอย่างให้วัด/สำนักปฏิบัติธรรมต่างๆ หันมาดูแลพุทธสาวิกาที่เจ็บป่วยอาพาธอยู่ในภาวะพึ่งพิงมากขึ้น

สันติภาวันพร้อมที่จะนำประสบการณ์ที่ได้จากการดูแลมาบอกเล่า แบ่งปัน เพื่อเราจะได้ร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องนี้ไปด้วยกัน

ถ้าพวกเราไม่ดูแลกัน แล้วใครจะหันมาช่วยเรา