เรื่องที่น่าลำบากใจในการดูแลผู้ป่วยติดเตียงอย่างหนึ่งคือเรื่องการถ่ายหนัก-ถ่ายเบา เพราะขึ้นชื่อว่าสิ่งปฏิกูลแล้ว แม้แต่ของตนเองหลายคนก็ยังรังเกียจ ยิ่งเป็นของคนอื่นด้วยแล้วไม่ต้องพูดถึงเลยทีเดียว

เรื่อง “หนัก” ขอพักไว้ก่อน ครั้งนี้ขอพูดถึงเรื่อง “เบา” ที่ไม่เคยเบาเลยในการดูแลผู้ป่วยติดเตียง

เพราะปัสสาวะนั้นหากทำความสะอาดไม่ดีจะส่งกลิ่นไปทั่ว ทั้งติดตัวคนไข้น่ารังเกียจสร้างความอับอายเมื่อพาไปนอกบ้านหรือมีคนมาเยี่ยม และยังอาจติดตัวผู้ดูแล ห้องหับเหม็นสาบ เกิดคราบติดภาชนะเครื่องใช้อีกด้วย

ทุกครั้งที่รับพระอาพาธรูปใหม่มาดูแล เราใช้เวลาไม่น้อยในการจัดการเรื่องปัสสาวะของท่านให้ลงตัว เพราะท่านไม่สามารถลุกเข้าห้องน้ำ หรือแม้แต่ปัสสาวะลงกระบอกด้วยตัวเองได้

ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ขึ้นกับบุคลิกนิสัย และสภาพความเจ็บป่วยของพระอาพาธแต่ละรูปอยู่มาก

พระอาพาธส่วนหนึ่งไม่รู้ตัวเมื่อปัสสาวะ บางรูปรู้แต่ควบคุมไม่ได้ บางรูปก็ปัสสาวะมาก บางรูปปัสสาวะบ่อย บางรูปปัสสาวะน้อยกลิ่นแรง หรืออาจมีสี/กลิ่นของยาปนมาด้วย

หากมีพระอาพาธปัสสาวะบนเตียง เปียกผาปู/ที่นอน/หมอนขึ้นมาคราใด การทำความสะอาดใหญ่ต้องเริ่มขึ้น

แม้ทุกวันนี้จะมีผ้าอ้อมสำเร็จรูป แผ่นรองซึมซับ ซึ่งช่วยให้ดูแลผู้ป่วยง่ายขึ้น แต่ก็มีราคาแพง เป็นขยะที่สร้างภาระในการกำจัด และมิได้ขจัดปัญหาโดยสิ้นเชิง

พระบางรูปท่านไม่ชอบ ไม่คุ้นเคยกับการใส่ผ้าอ้อมสำเร็จ ก็มักจะถอด-แกะ หรือปัสสาวะนอกผ้าอ้อม บางรูปที่ไม่ค่อยรู้ตัวก็อาจดิ้นจนแผ่นรองซับขาด เลื่อน ทำให้ปัสสาวะเปื้อนเตียง

มีบางท่านที่โรงพยาบาลใส่สายสวนปัสสาวะมาให้ ทำให้ดูแลง่ายขึ้น แต่ก็ต้องวุ่นวายพาไปโรงพยาบาลให้ช่วยเปลี่ยนสายให้ทุกเดือน แถมยังสร้างความเจ็บปวดให้ผู้ป่วยไม่น้อยในการใส่แต่ละครั้ง

การใช้ถุงยางอนามัยสวมต่อสายนำปัสสาวะเข้าถุง ดูจะเป็นคำตอบสุดท้ายที่ลงตัวสำหรับพวกเรา เพราะทำเองได้ไม่ยาก แต่ก็ต้องหมั่นทำความสะอาด และมีโอกาสหลุด หรือผู้ป่วยที่ไม่ค่อยรู้ตัวอาจดึงออกได้

จะเห็นได้ว่าแค่เรื่อง “เบา” ซึ่งถือเป็นโจทย์พื้นฐานในการดูแลผู้ป่วยติดเตียง ก็ไม่ใช่เรื่องเบาๆ แล้ว

สำหรับพวกเราที่สันติภาวันซึ่งมองการดูแลพระอาพาธว่าเป็นการปฏิบัติธรรม นอกจากการมองว่าปัสสาวะเป็นสิ่งปฏิกูลที่มีอยู่ในทุกคน จะหล่อ สวย รวย จน ก็มีเสมอกันหมด เรายังสังเกตใจตัวเองไปด้วย

ดูว่าขณะเทปัสสาวะ เปลี่ยนผ้า เช็ดเตียง ใจรู้สึกอย่างไร มีความรังเกียจ บ่นพึมพำ (ว่าทำไมต้องมาทำสิ่งนี้) หรือกระทั่งโกรธผู้ป่วยปนอยู่ด้วยหรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่อกุศลเหล่านี้จะเกิดขึ้นในใจได้

เมื่อ “เห็น” ก็เป็นโอกาสให้เราพัฒนา ใช้สติกำกับไม่ให้พูด/แสดงอาการที่ไม่เหมาะสมออกไป ใช้ปัญญามองให้เห็นว่าเป็นเรื่องธรรมดา แล้วดึงความกรุณาออกมาช่วยเหลือ ชำระสิ่งสกปรกให้ท่าน

หากวางใจถูก เรื่อง “เบา” ก็นำเราเข้าถึงธรรมะได้ เมื่อไม่รังเกียจเรื่อง “เบา” เรื่อง “หนัก” ก็ไม่ใหญ่นักสำหรับเรา