ช่วงนี้โลโก้ หรือตราสัญลักษณ์ของสันติภาวัน อาจผ่านตาทุกท่านบ่อยขึ้น เพราะเราได้นำมาใส่เป็นลายน้ำในภาพที่มีพระอาพาธ เพื่อป้องกันมิให้ผู้ที่ไม่หวังดีนำไปใช้หลอกลวงแอบอ้างหารายได้เข้ากระเป๋าได้ง่ายๆ

จึงมีคนสอบถามมาว่า โลโก้นี้เป็นรูปอะไร มีความหมายอย่างไร วันนี้เราจึงถือโอกาสนำมาบันทึกไว้ให้ได้รับทราบกัน

โลโก้นี้เราได้รับความช่วยเหลือออกแบบให้ โดย “คุณละอ่อน” พอพวกเราเห็นปุ๊บ ตอบรับทันทีโดยไม่มีการแก้ไขใดๆ เลย

สันติภาวัน อันเป็นชื่อที่พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล มีเมตตามอบให้เรา มาจากคำว่า “สันติ” ที่แปลว่า ความสงบ อันมีความหมายได้ตั้งแต่สงบเบื้องต้น ไม่มีภัย สิ่งรุมเร้า รบกวน ก่อทุกข์ ความวุ่นวาย ไปจนถึงความสงบขั้นสูง คือสงบเย็นปราศจากกิเลสทั้งปวง สันติ จึงเป็นอีกชื่อหนึ่งของนิพพาน

ส่วน “ภาวัน” มาจากคำว่า ภาวนา หรือพัฒนา หมายถึง เพิ่มขึ้น เจริญงอกงามขึ้น

เมื่อนำมารวมกันจึงหมายถึง “การเจริญขึ้นแห่งความสงบ” สันติภาวันจึงเป็นสถานที่แห่งการพัฒนาความสงบเย็นในมิติต่างๆ ให้ประณีตลึกซึ้งยิ่งขึ้น ตามกำลังของแต่ละคน จนกว่าจะถึงความสงบสูงสุด คือนิพพาน

ภาพสัญลักษณ์ “ใบโพธิ์” เป็นดุจเป้าหมายคือ โพธิ อันหมายถึง ความตรัสรู้ ภาวะที่รู้แจ้ง สงบเย็น พ้นจากกิเลสทั้งปวง

องค์ประกอบภายในเป็นภาพต้นไม้-องค์แห่งโพธิ หรือ โพธิปักขิยธรรม คือธรรมอันเป็นฝ่ายแห่งความตรัสรู้ หรือธรรมที่เกื้อกูลแก่การตรัสรู้ ซึ่งประกอบด้วยองค์ธรรม ๓๗ ประการ ได้แก่

อริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นดุจราก หรือพื้นฐานเบื้องต้นในการปฏิบัติ ซึ่งแบ่งออกได้เป็น ๓ หมด คือหมวด ศีล ๓ ข้อ (สัมมาวาจา, สัมมากัมมันตา, สัมมาอาชีวะ) สมาธิ ๓ ข้อ (สัมมาวายามะ, สัมมาสติ, สัมมาสมาธิ) และปัญญา ๒ ข้อ (สัมมาทิฏฐิ, สัมมาสังกัปปะ)

พละ ๕ และอินทรีย์ ๕ เปรียบประดุจใบ ที่เป็นขุมกำลัง เป็นหัวเรือใหญ่ ให้ความมั่นคงในการปฏิบัติพัฒนาตน มีองค์ประกอบ ๕ ประการ (เหมือนกัน) คือ ศรัทธา, วิริยะ, สติ, สมาธิ, ปัญญา

สติปัฏฐาน ๔ (กายานุปัสสนาฯ, เวทนานุปัสสนาฯ, จิตตานุปัสสนาฯ, และธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน), สัมมัปปธาน ๔ (สังวรปธาน, ปหานปธาน, ภาวนาปธาน, อนุรักขนาปธาน), และ อิทธิบาท ๔ (ฉันทะ, วิริยะ, จิตตะ, วิมังสา) เป็นประดุจดอก ที่ต้องเบ่งบานควบคู่ไปเสมอขณะพัฒนาตนสู่โพธิ และ

โพชฌงค์ ๗ ธรรมอันเป็นองค์แห่งการตรัสรู้ ๗ ประการ (สติฯ, ธัมมวิจยะฯ, วิริยะฯ, ปีติฯ, ปัสสัทธิฯ, สมาธิฯ, อุเบกขาสัมโพชฌงค์) เมื่อองค์ธรรมทั้ง ๗ ข้อนี้บริบูรณ์ การบรรลุซึ่งโพธิก็ถึงพร้อม

โพธิปักขิยธรรมทั้ง ๓๗ ประการ เป็นธรรมที่เราชาวพุทธควรน้อมมาใช้อยู่เสมอ เมื่อน้อมมาใช้ขณะดูแลพระอาพาธ ก็ทำให้การดูแลพระอาพาธเป็นกระบวนการปฏิบัติธรรมไปด้วย เกิดการพัฒนาจิต ขจัดกิเลสเครื่องเศร้าหมองไปในตัว

การทำได้เช่นนี้ แม้สันติภาวันจะทำภารกิจดูแลพระอาพาธอยู่ กิจนี้ก็กลายเป็นการปฏิบัติพัฒนาตน เพื่อเข้าถึงความสงบเย็นสูงสุดไปพร้อมๆ กันด้วย ทุกท่านก็สามารถทำบ้าน ที่ทำงาน สถานพักผ่อน ฯลฯ ให้เป็นพื้นที่รมณีย์ เอื้อต่อโพธิปักขิยธรรมได้เช่นกัน