การหวังสิ่งใดแล้วไม่ได้ดั่งใจเป็นภาวะที่เราพบได้บ่อยในชีวิต ส่งผลให้จิตใจที่โปร่งสบายกลับกลายเป็นเศร้าหมอง ตั้งแต่เซ็ง หงุดหงิด โกรธ หรือถึงขั้นอาฆาตแค้นจะเอาชีวิตกันเลยก็ได้ ขึ้นกับว่าเรื่องที่ผิดหวังนั้นรุนแรงหรือเกิดซ้ำบ่อยเพียงใด
ในการดูแลผู้ป่วยจะต้องพบสถานการณ์ที่ไม่ได้ดั่งใจมากมาย ยิ่งป่วยหนักความไม่สมหวังก็ดูเหมือนจะหนักตามไปด้วย ทั้งจากระบบการรักษา จากตัวผู้ป่วย จากอาการโรคที่ไม่ดีขึ้น รวมทั้งจากตัวเองที่ทำไม่ได้ดั่งใจตน ซึ่งถ้าเกิดขึ้นรุนแรงยาวนาน อาจส่งผลให้ตัวผู้ดูแลเจ็บป่วย ไม่สนใจ หรืออาจตัดสินใจทอดทิ้งผู้ป่วยไปเลยก็มี

ที่สันติภาวันแม้เราเต็มใจอาสามาดูแลพระอาพาธ แต่ก็สัมผัสได้ถึงความทุกข์ใจเมื่อไม่ได้ดังหวังเช่นกัน มีตั้งแต่เมื่อท่านไม่ยอมฉันอาหาร ไม่บริหารร่างกาย ขับถ่ายเปรอะเปื้อน ไปจนถึงด่าทอหยาบคาย ทำร้ายพระที่ดูแล

ช่วงที่เราดูแลหลวงพ่อประมวล (นามสมมติ) ซึ่งเป็นมะเร็งกระดูก ท่านจะเจ็บปวดมากเมื่อขยับตัว ปัสสาวะเป็นเลือดปนหนอง และท้องผูก ท่านมักดึงสายรองปัสสาวะที่สวมไว้ออก หรือแกะผ้าอ้อมแล้วปัสสาวะทำให้สกปรกส่งกลิ่นเหม็นคลุ้งแทบทุกวัน บางวันก็ล้วงอุจจาระที่เป็นก้อนแข็งออกมาป้ายหรือทิ้งไว้ข้างเตียง เราสื่อสารกับท่านได้น้อยมาก จึงต้องช่วยกันหาวิธีแก้ไข (ที่จะไม่ทำให้ท่านทุกข์เพิ่มขึ้น) จนลงเอยที่การใช้เทปกาวพันทับผ้าอ้อมหลายๆ รอบ จนยากที่จะแกะ/ล้วงได้ แล้วก็ดูแลกันไปจนท่านสิ้นลม

ส่วนหลวงพ่อคงศักดิ์ (นามสมมติ) ที่นอกจากจะอัมพาตซีกซ้ายแล้วยังเป็นอัลไซเมอร์และกร้าวร้าวด้วย วันดีคืนร้ายท่านก็จะปัสสาวะนอกผ้าอ้อม ที่หนักกว่านั้นคือถ้าท่านถ่ายช่วงกลางคืนไม่มีใครรู้ ท่านจะนำอุจจาระออกมาเล่น ละเลงหน้าป้ายตัวเปรอะเปื้อนไปทั่วเท่าที่มือจะไปถึง แน่นอนว่าพูดกับท่านไม่รู้เรื่อง จะใช้วิธีเดียวกับหลวงพ่อประมวลก็ดูไม่เหมาะเพราะไม่ได้เกิดบ่อย สรุปคือต้องพยายามสังเกต หากพบว่าท่านถ่ายต้องรีบเข้าไปจัดการ ส่วนเรื่องปัสสาวะแม้ทุกวันนี้ก็ยังหาวิธีแก้ไขไม่ได้ ต้องซักผ้าเปื้อนกันต่อไปตามเดิม

แต่กรณีของหลวงพ่อดำ (นามสมมติ) ท่านเพิ่งฟื้นจากเส้นเลือดในสมองตีบ/แตก ร่างกายซีกขวาอ่อนแรง สติสัมปชัญญะสมบูรณ์ดี เราหวังจะให้ท่านมาฟื้นฟูบริหารกายสักระยะหนึ่งเพื่อจะได้กลับไปใช้ชีวิตต่อที่วัดได้ดีขึ้น แต่กลับพบว่าท่านไม่นำพาดูแลสุขภาพตัวเองเลย ต้องขอร้องให้บริหารร่างกาย ไม่บอกก็ไม่ทำ ปัญหาอีกข้อคือท่านมักปัสสาวะเปื้อนเตียง ทั้งที่เราใส่ผ้าอ้อมหรือใช้สายรองปัสสาวะลงถุงให้อย่างดี เราเคยคุย ถามเหตุผล ให้โอกาสท่านแก้ตัวหลายครั้ง แต่ก็ยังไม่เป็นผล สุดท้ายเราต้องตัดใจส่งท่านกลับไปอยู่วัดเช่นเดิม (ยังมีศิษย์วัดดูแลอยู่)

การที่เราตั้งใจจะปฏิบัติธรรมพร้อมไปกับการดูแลพระอาพาธ จึงเป็นโอกาสได้เรียนรู้ความทุกข์ใจแบบนี้ เราสังเกตพบว่า เราจะทุกข์กับพฤติกรรมของพระที่ยังมีสติพูดคุยรู้เรื่อง มากกว่าพระที่อยู่ในระยะท้ายหรือสติไม่สมบูรณ์ เมื่อพระกลุ่มหลังนี้ทำเตียงเปื้อนอย่างมากเราก็แค่ถอนหายใจ แต่เมื่อใดพระที่พูดคุยรู้เรื่องทำแบบเดียวกัน เราจะขุ่นเคืองท่านมากกว่า

ความทุกข์เมื่อมิได้ดั่งใจจึงมิได้ขึ้นกับว่ามีอะไรเกิดขึ้นเท่านั้น แต่ยังขึ้นกับว่าใครทำ หรือเรามีท่าทีต่อสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นอย่างไร พูดอีกอย่างคือ ความทุกข์ประเภทนี้ถูกกำหนดจากการปรุงแต่งของใจเรามากทีเดียว

ปัจจัยภายนอกมักมาปรุงแต่งใจให้เราสุข/ทุกข์โดยไม่รู้ตัว เช่น อาการของผู้ป่วย (หนัก-เบา) ท่าทีของเขา (ทำแล้วขอโทษ-เฉยไม่สนใจ) สถานภาพ (ผู้ป่วยวีไอพี-พ่อแม่เรา-ลูกน้องเรา) เป็นต้น ดังนั้นเมื่อมีอุจจาระเปื้อนเตียง เราอาจโกรธเป็นฟืนเป็นไฟ เพราะคนไข้ไม่ยอมบอกทั้งที่ได้ตกลงกันแล้ว แต่อาจดีใจเมื่อเป็นคนไข้ที่ไม่ถ่ายมาเป็นสัปดาห์ระดมให้ยามาแทบทุกชนิดแล้ว
เมื่อเผชิญกับทุกข์หรือปัญหาใดๆ ครูบาอาจารย์แนะให้เราทำหน้าที่ใน ๒ ด้าน คือทำจิต และทำกิจ

ในกรณีนี้ การ “ทำจิต” คือต้องรู้สึกตัวให้ไว (ถึงความรู้สึกในใจที่เกิดขึ้น) แล้ววางใจให้ถูก แค่กลับมาอยู่ที่สิ่งต้องทำตรงหน้า หยุดเติมเชื้อไม่คิดฟุ้งปรุงเพิ่ม จิตก็กลับสู่ภาวะปกติได้ไม่ยาก จากนั้นจึงใช้ปัญญามาเปลี่ยนเส้นทางการปรุงแต่งไปในทางที่ไม่นำทุกข์มาให้ เราก็จะไม่ทุกข์มากหรือนานเกินไป การได้เห็นได้เข้าใจการเกิดขึ้น-ดับไปของความเบื่อ ความโกรธ เป็นกำไรที่ได้เพิ่มเติม

แต่ขณะเดียวกันก็มิใช่ว่าจะต้องรับสภาพแย่ๆ ของผู้ป่วยเรื่อยไป เราต้อง “ทำกิจ” ซึ่งนอกจากจัดการกับปัญหาตรงหน้าแล้ว ยังต้องคิดหาวิธีแก้ไขป้องกันระยะยาวด้วย ในการดูแลผู้ป่วยที่ขาดสติไม่รู้เรื่อง เราอาจต้องปรึกษาผู้รู้หรือคิดค้นหาวิธีใหม่ๆ ซึ่งมองให้เป็นเรื่องที่สนุกและท้าทายได้ ในขณะที่จะต้องพูดคุย ทำความเข้าใจ หรือวางเงื่อนไขกับผู้ป่วยที่ยังพูดคุยรู้เรื่องด้วย

อย่างไรก็ตามความทุกข์เพราะไม่ได้ดั่งใจนี้มิได้เกิดขึ้นกับเราเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยด้วย ซึ่งอาจเกิดมากเกิดบ่อยกว่าผู้ดูแลอีกด้วย เพราะผู้ป่วยมักหมดอำนาจต่อรอง หาโอกาสระบายก็ยาก ถูกคาดหวังให้ทำตามคำสั่งของผู้รักษาดูแล และยังต้องทนทุกข์กับสภาพร่างกายของตนที่ไม่ได้ดั่งใจเพราะโรคภัยที่คุกคามอยู่ เราจึงต้องระวังไม่นำความทุกข์นี้ของเราเข้าไปซ้ำเติมเขาอีก หรือถ้าเป็นไปได้ควรช่วยเขาคลายทุกข์ชนิดนี้ลงด้วย

แต่ถ้าเรายังไม่รู้จัก ไม่ทราบวิธีบรรเทาทุกข์ชนิดนี้ให้ตนเอง โอกาสจะเข้าไปช่วยผู้ที่กำลังป่วยก็น้อยลง หากเกิดทุกข์แบบนี้คราวหน้า ลองมาศึกษาเรียนรู้ดูสักตั้ง น่าจะดี