ไม่ใช่เฉพาะพระหรอก ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ คงไม่มีใครอยากไปโรงพยาบาล แต่สำหรับพระความลำบากใจเมื่อไป รพ. จะมีเพิ่มมากกว่าคนทั่วไปพอควร โดยเฉพาะพระธรรมดาๆ ที่อยู่วัดเล็กๆห่างไกลตัวเมือง
ส่วนใหญ่เป็นข้อจำกัดทางวินัยที่ทำให้เกิดความติดขัดเมื่อไป รพ. โดยเฉพาะพระที่ไม่มีผู้อุปัฏฐากดูแล เริ่มตั้งแต่การจัดหารถราเพื่อเดินทางออกจากวัดแต่เช้ามืดเพื่อไปรอคิวตรวจ เรื่องอาหารขบฉัน (เพราะวันนั้นไม่ได้บิณฑบาต) ยังไม่รวมขั้นตอนการตรวจรักษาใน รพ. ที่เสี่ยงต่อการอาบัติได้ในแทบทุกจุด ตั้งแต่นั่งรอคิว วัดความดัน ตรวจรักษา ไปจนถึงขั้นตอนรับยาก่อนออกจาก รพ.
ดังนั้น เมื่ออาพาธขึ้นมาหากพอทนได้ไม่เหลือวิสัย พระก็จะไล่ค้นยาเก่าๆ ที่อาจมีอยู่ใช้ไปพลางก่อน หากไม่ดีขึ้นก็ปรึกษาหายาและข้อมูลจากเพื่อนพระ แล้วไปหาซื้อยาจากร้านใกล้วัดมาฉัน หรือไปพบแพทย์ที่คลินิก หากไม่ไหวจริงๆ จึงค่อยไป รพ.
ส่วนยาสามัญประจำบ้านที่โยมถวายไว้ มีโอกาสได้ใช้ไม่มากนัก เพราะไม่ค่อยตรงกับโรคที่เป็น หรือไม่แน่ใจในคุณภาพนัก เช่น ยาใส่แผล ก็มีแต่ยาแดง ยาเหลือง ที่ดูเหมือนว่าเขาไม่ใช้กันแล้ว ยาที่พอจะได้ใช้ แก้ไข้ แก้ไอ ก็มีอย่างละนิดละหน่อย
ฝ่ายญาติโยมเอง แม้อยากจะช่วยดูแลสุขภาพให้พระ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะซื้อยาอะไรไปถวายพระดี ที่ตรงกับความต้องการ ไม่ต้องเก็บไว้นานๆ จนหมดอายุ เรื่องนี้จะหาทางออกกันอย่างไร ที่จะสบายใจได้คุณภาพทั้งฝ่ายพระฝ่ายโยม คงต้องช่วยกัน