เมื่อวาระสุดท้ายของชีวิตใกล้มาถึง การน้อมจิตของผู้ป่วยให้ดื่มด่ำอยู่ในความดี มีความมั่นคงในพระรัตนตรัย อาจทำได้หลายแบบ แต่เมื่อต้องดูแลภิกษุอาพาธ มักเกิดคำถามว่า เราจะช่วยประคองจิตเมื่อท่านเข้าสู่วาระสุดท้ายอย่างไรดี เพราะดูเหมือนว่าผู้ป่วยคือพระจะเชี่ยวชาญในการฝึกปฏิบัติทางจิต มากกว่าญาติโยมผู้ดูแลมากนัก
เรื่องนี้ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนเพราะขึ้นอยู่กับจริตนิสัย ระดับขั้นในการปฏิบัติธรรมของพระแต่ละรูป และยังขึ้นอยู่กับความศรัทธาในแนวทางการปฏิบัติที่ท่านใช้เป็นพื้นฐานด้วย หากเป็นพระที่ไม่สนใจกรรมฐานเลยก็คงไม่ต่างจากผู้ป่วยทั่วไป แต่ในทางตรงกันข้ามหากท่านที่ปฏิบัติจิตเตรียมใจมาอย่างดี เทคนิคที่เราคิดว่าดี อาจเป็นอุปสรรคสำคัญทำให้ท่านจากไปอย่างไม่สงบ
การได้มีโอกาสพูดคุยกันก่อนถึงแนวทางปฏิบัติธรรมของท่าน หรือสอบถามท่านโดยตรงเลยว่าหากถึงช่วงท้ายๆ ของชีวิต อย่างให้ช่วยเหลือหรือปฏิบัติต่อท่านอย่างไร ท่านอยากอยู่ตามลำพัง หรืออยู่กับใครบ้าง อยากให้ร่วมกันสวดมนต์บทใดส่งท่าน หรืออยากฟังเสียงพระอาจารย์ท่านใดเป็นพิเศษหรือไม่ ฯลฯ
โดยไม่ต้องอาศัยกิจกรรมพิเศษอื่นใด แค่ได้อยู่ในบรรยากาศของวัด ในกุฏิที่คุ้นเคย มีเสียงระฆัง กลิ่นธูปควันเทียน เสียงทำวัตรสวดมนต์ ก็อาจน้อมจิตของพระที่บวชมานานให้สงบเย็นเป็นกุศลได้แล้ว การให้ท่านจากไปที่วัดในกุฏิของตน โดยภาพรวมแล้วย่อมให้ผลดีกว่าให้จากไปท่ามกลางญาติที่บ้าน หรือท่ามกลางเทคโนโลยีการรักษามากมายในโรงพยาบาลมากนัก
การมีครูบาอาจารย์ เพื่อนพระ หรือศิษย์ที่ท่านคุ้นเคยอยู่ใกล้ๆ อาจช่วยทำอะไรบางอย่างที่ญาติหรือเจ้าหน้าที่ดูแลทำไม่ได้ เช่น การช่วยปลงอาบัติให้ท่านเพื่อชำระศีลให้บริสุทธิ์เป็นครั้งสุดท้าย หรือบางอย่างโยมทำได้แต่อาจไม่ดีเท่าให้เพื่อนพระช่วยทำ เช่น การชำระร่างกาย ปลงผม ตัดเล็บ เป็นต้น ดังนั้น เมื่อเห็นว่าพระอาพาธใกล้ถึงวาระท้ายแห่งชีวิตแล้ว ถ้าเป็นไปได้ควรสอบถามถึงสถานที่ที่ท่านต้องการละสังขาร และวิธีการที่ท่านต้องการให้เราช่วยเหลือ การพยายามนำท่านกลับไปบ้าน หรือยัดเยียดให้อยู่โรงพยาบาลไปจนสิ้นลม อาจเป็นการทำร้ายท่านอย่างรุนแรงเพราะขัดแย้งกับสิ่งที่ท่านตั้งใจปฏิบัติมาในร่มกาสาวพัสตร์ การใส่ใจในจุดนี้คือสิ่งดีๆ สิ่งสุดท้ายที่เราจะทำให้ท่านได้